รมว.พาณิชย์ ชู 4 นโยบายสำคัญ ประกันรายได้เกษตรกรใน 5 พืชศก.หลัก-ดูแลค่าครองชีพ-เร่งรัดส่งออก-เจรจาการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 5, 2019 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา "Bangkok Post Forum 2019" หัวข้อ "ทิศทางประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่" โดยระบุว่า 4 นโยบายสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การประกันรายได้เกษตรกร เนื่องจากรายได้เกษตรกรถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจฐานรากได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการประกันรายได้ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในส่วนของราคาผลปาล์มดิบนั้น จะพยายามผลักดันราคาให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4 บาท/กก. จากปัจจุบันที่ระดับ 2 บาท/กก. ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ในขณะที่ราคายางพารา จะพยายามผลักดันราคาให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 60 บาท/กก.

2.การดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม

3.การเร่งรัดการส่งออก ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทั้งนี้ภาคเอกชนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตัวจริงในการทำการค้า และสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้นจะต้องให้ภาคเอกชนเป็นพระเอกหรือทัพหน้า ในขณะที่ภาครัฐจะเป็นทัพหนุนเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทางการค้า โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนได้พบปะเจรจาหาแนวทางในการเร่งรัดการส่งออก ตลอดจนแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคทางการค้าร่วมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 10 ส.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเรื่องการค้าชายแดน ยังเป็นอีกทางที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศได้ อีกทั้งในหลายประเทศในอาเซียนยังมีศักยภาพสูงที่จะเป็นตลาดส่งออกของไทย ซึ่งในเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดเวทีพบปะกับภาคเอกชนในพื้นที่ชายแดน เพื่อหารือร่วมกันถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำการค้าชายแดน ตลอดจนการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้าของไทยด้วย

4. การเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ยังคั่งค้างอยู่ โดยจะเร่งสานต่อการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ที่เคยหยุดชะงักไปในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาเสรีการค้าไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย-อียู) ที่ติดขัดจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในช่วงที่ไทยไม่ได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าหลังจากที่ไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อียูจะมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาการค้ากับไทยต่อไปอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังจะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้จบภายในสิ้นปี 62 นี้ เพื่อให้สามารถลงนามร่วมกันได้ในปี 63 ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจา RCEP จะทำให้มีตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่สุดถึง 3,500 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรทั่วโลก โดยสามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดในกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, เครื่องใช้ไฟฟ้า, พลาสติก, เคมีภัณฑ์, สิ่งทอ และอาหาร เป็นต้น

"กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดการส่งออกใน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.รักษาและขยายตลาดเดิมที่มีอยู่ 2.เปิดตลาดใหม่ที่ยังมีอีกมาก เช่น อินเดีย อาฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง และ 3.การฟื้นตลาดเก่า เช่น อิรัก และจอร์แดน ในส่วนของตลาดข้าว ซึ่งเราได้คุยกับสมาคมการค้าข้าวแล้วและเห็นตรงกันว่าในส่วนนี้น่าจะมีอนาคต หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ