นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่ายุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะร่วมกันศึกษาและเตรียมความพร้อมในการทำตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในภูมิภาค เหมือนในยุโรปที่มีตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งจะสามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าของอาเซียน (Center Energy of ASEAN) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องดังกล่าวภายในปีนี้
นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับสถานการณ์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruption) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่ำลง ซึ่งจะทำให้การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลลดลงในช่วงกลางวัน จนอาจทำให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องหยุดผลิตในช่วงกลางวัน แต่หากสามารถไทยสามารถขายไฟฟ้าออกไปในต่างประเทศได้ก็จะช่วยลดผลกระทบในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้หารือในรายละเอียดหากมีข้อสรุปก็จะมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น และจัดทำโรดแมพ และกำหนดช่วงเวลาดำเนินการร่วมกันต่อไป
"ถ้าเราเอาไฟจากประเทศไทยไปขายต่างประเทศได้ คนไทยก็จะได้ใช้ไฟราคาถูกลง นักลงทุนไทยก็จะได้ประโยชน์จากเงินลงทุนที่มีการสร้าง infrastructures ต่างๆได้ด้วย กฟผ.ก็จะได้มีโอกาสมีรายได้เพิ่มเข้ามาชดเชยจากรายได้ส่วนที่จะหายไปในอนาคต รักษาเสถียรภาพองค์กรไว้ได้ เป็น new business"นายพัฒนา กล่าว
นายพัฒนา กล่าวว่า สำหรับ Energy Trading จะแตกต่างจากการพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ National Energy Trading Platform (NETP) ที่กฟผ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา เพราะ Energy Trading เป็นตลางกลางรองรับการซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ ส่วน NETP จะเป็นตลาดกลางเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งคาดว่า NETP จะมีความชัดเจนภายในปีนี้เช่นกัน
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ไทยนับว่ามีศักยภาพเรื่องสายส่งไฟฟ้าเพราะได้มีการลงทุนไปค่อนข้างมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอและจะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของอาเซียน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจะต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดทางให้กฟผ.สามารถขายไฟฟ้าออกไปสู่ภายนอกได้ด้วย
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวเปิดวิสัยทัศน์ ในงานสัมมนา "Energy Dispution: พลังงานไทย ยุค...ดิสรัปชั่น ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ในอดีตเคยมีพลังงานหลักคือฟอสซิล แต่สิ่งเหล่านี้ กำลังจะเปลี่ยนไป จากกระแสดิสรัปชั่นซึ่งจะทำให้เกิดทิศทางพลังงานที่สำคัญในอนาคต โดยมีพลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และผู้บริโภคก็เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตด้วย ทำให้เกิดนิยามของ prosumer แต่หัวใจสำคัญยังอยู่ที่จะต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กำหนดนโยบายโดยต้องการให้พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน (Energy for all) ช่วยดูแลผลกระทบให้กับประชาชน สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนในระยะต่อไปหนีไม่พ้นทิศทางพลังงานของโลก ภายใต้กรอบ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ที่เกี่ยวของกับพลังงานใน 2 เรื่องหลัก คือ Affordable และ Clean Energy ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดพลังงานชุมชน เกิดเรื่อง grid modernization เรื่องของแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า และในอนาคตจะปรับสู่สมาร์ทมิเตอร์ จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสำคัญในอนาคต
นอกจากนี้จะเดินหน้าผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการผลิตไฟฟ้าและซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน โดยหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้โรงไฟฟ้าชุมชนสำเร็จ คือ ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage) ที่จะเข้ามาช่วยกักเก็บพลังงานส่วนเกิน และจะเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)
ดังนั้น ทิศทางของประเทศด้านพลังงานจะต้องเดินคู่ขนานระหว่างระบบกักเก็บพลังงาน และ EV โดยเฉพาะเรื่อง EV ที่จะต้องเร่งปรับตัวสู้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ไม่เช่นนั้น จะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปสู่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย
กระทรวงพลังงาน จึงจะจับมือกับหน่วยงานต่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา Energy Storage โดยจะเปิดกว้างความร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งในวันนี้ตัวแทนจากประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ก็ได้มาหารือรัฐบาล ก็จะต้องพิจารณาว่าการนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันและทิศทางของแบตเตอรี่ในอนาคต
ส่วนงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการวิจัยฯนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็จะต้องเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย
นอกจากนี้ รถ EV ยังตอบโจทย์ Clean Energy เพราะจะช่วยลดการใช้ฟอสซิล ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
"สิ่งเหล่านี้จะเป็นทิศทางของแผน PDP ที่จะปรับปรุงใหม่ให้มีความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านราคาพลังงานที่ถูกลง และการเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน ก็จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และไม่ไกลเกินฝันหากมีการบริหารจัดการที่ดี"