สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยังคงคาดการณ์ส่งออกปีนี้ -1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 5 ส.ค. 2562 = 30.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.57 – 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้จากการส่งออกเดือนมิ.ย. 62 มีมูลค่า 21,409.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 676,838 ล้านบาท หดตัว -2.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 583,094 ล้านบาท หดตัว -10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้เดือนมิ.ย. 62 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 93,745 ล้านบาท แต่เมื่อหักทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันออก พบว่า มูลค่าการส่งออกเดือนมิ.ย. ติดลบถึง -8%
ขณะที่ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- มิ.ย. 62 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,881,308 ล้านบาท หดตัว -2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 3,812,240 ล้านบาท หดตัว -2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้เดือนม.ค.- มิ.ย. 2562 ไทยเกินดุลการค้า 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 69,068 ล้านบาท
สำหรับความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) บรรยากาศการค้าโลก
1.1) ผลจากสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจของคู่ค้าหลักชะลอตัวและโดยฉพาะสินค้าที่อยู่ในโซ่อุปทานของจีน เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงข้อพิพาททางการค้าคู่ใหม่ ล่าสุด สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Smartphone and parts) เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น
1.2) ท่าทีที่แข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหรัฐราชอาณาจักรต่อกรณี Hard Brexit (No Deal) ทำให้บรรยากาศทางการค้าอาจไม่ดีเท่าที่ควรและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง สถิติต่ำสุดในรอบ 28 เดือน โดยกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคม นี้
1.3) เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้า สามารถเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี เวียดนาม - อียู ทำให้เกิดการลงทุนและการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากขึ้น ซึ่งอาจลดส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยโดยเฉพาะตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและรองเท้า
1.4) สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบเฮอร์มุซของประเทศอิหร่านและชาติตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาน้ำมันอยู่ระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงทั้งด้านเส้นทางเดินเรือและต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้น
1.5) สถานการณ์ความขัดแย้งในฮ่องกง เริ่มทวีความรุนแรงส่งผลต่อการบริโภคในประเทศและการลดปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยเนื่องจากธุรกิจต้องหยุดชะงัก
2) สถานการณ์ในประเทศ
2.1) สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปรากฎการณ์เอลนินโญ่และกระทบต่อปริมาณผลผลิตพืชผลทางการเกษตรในช่วง Q3/62 อาจขาดแคลนและส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีการนำเข้าผักและผลไม้จากไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
2.2) ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยกดดันภายนอกและปัจจัยภายใน เช่นไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเป็น safe haven ทำให้สถานการณ์ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นมากกว่า 5% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน กระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกทันที
ขณะที่ปัจจัยบวกสำคัญ อาทิ 1) ผลกระทบจากสงครามการค้าอาจทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากนโยบายการสนับสนุนการลงทุนตาม FTA อาเซียน-ฮ่องกง 2) การส่งออกยังคงกระจายตลาดใหม่ที่หลากหลายเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อินเดีย CLMV โดยเฉพาะกลุ่นสินค้าเครื่องสำอาง, เครื่องดื่มน้ำผลไม้ และ 3) ความชัดเจนและความมีเสถียรภาพทางการเมืองไทยจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเร่งด่วนสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและนักลงทุนได้มากขึ้น จากผลการเข้ามาลงทุนและประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มมากขึ้น