นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% โดยกำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุล จำนวน 469,000 ล้านบาท
ขณะที่ คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,237,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 181,000 ล้านบาท หรือ 7.1%
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 อยู่ภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะขยายตัวในช่วง 3.0 – 4.0% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8 – 1.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 - 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีจำนวนและสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ 2561
พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2.393 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ของวงเงินงบประมาณรวม
2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้น 100% และคิดเป็นสัดส่วน 2% ของวงเงินงบประมาณรวม
3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 จำนวน 5,861 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% และคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณรวม
4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 จำนวน 10,964 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% และคิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของวงเงินงบประมาณรวม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนหรือมีการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากชี้แจงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 42% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินระดับ 60% นอกจากนี้ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้บรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลนั้น ยังมีแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่นที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการจัดหาเม็ดเงินมาเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และการร่วมทุนจากภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
"การจัดทำงบประมาณ ยังเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง และยังอยู่ในกรอบที่ไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่ภาระหนี้ของประเทศนั้น จะพบว่าหนี้ต่างประเทศของไทยมีเพียง 3% ของหนี้โดยรวมทั้งหมดของประเทศ อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้น ความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะเกิดผลกระทบกับภาระการคลังจึงมีไม่มาก ขอให้คลายความกังวล" นางนฤมลกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไว้เหมือนทุกๆปี
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า งบที่ตั้งขึ้นก็นำมาใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้ระยะสั้น/ระยะยาว การชำระดอกเบี้ย ชำระเงินต้น รวมถึงเป็นงบสำหรับงบรายจ่ายประจำ งบกระทรวง งบตามกลุ่มยุทธศาสตร์ เป็นต้น
"ไม่ใช่ว่าจะเอาวงเงินขาดดุลงบประมาณทุกปีมารวมกันแล้วสรุปว่า เราเป็นหนี้อยู่เท่าใด แล้วต้องใช้หนี้กันกี่ปี คงไม่ใช่แบบนั้น นี่คือการบริหารในภาพรวม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว