นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทั้งการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศมีสัญญาณที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เครื่องชี้ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เตรียมที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในวันที่ 1 ก.ย.62 ขณะที่จีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวน/ดอลลาร์ฯ ถือเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปี จากนั้นสหรัฐฯ ก็ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ซึ่งน่าจะนำมาสู่มาตรการเพิ่มเติมจากฝั่งสหรัฐฯ และส่งผลให้สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหราชอาณาจักรอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค.นี้
"ปัจจัยดังกล่าว สร้างแรงกดดันเพิ่มต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่แล้ว และเมื่อประกอบกับความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งผันผวน และอาจปรับแข็งค่าขึ้น ล้วนเป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อภาพการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี" ประธานที่ประชุม กกร.ระบุ
ทั้งนี้ นับจากต้นปี จนถึงล่าสุดวันที่ 6 ส.ค.62 เงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นอัตราที่แข็งค่ามากสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ
นายปรีดี กล่าวว่า จากสถานการณ์ด้านต่างประเทศดังกล่าว แรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยคงต้องหวังพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจากภาครัฐ ทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และการเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
"ที่ประชุม กกร. จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยขณะนี้ จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2562 ไว้ตามกรอบเดิม" นายปรีดีระบุ
โดย กกร. ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ไว้ที่ 2.9-3.3% การส่งออก ขยายตัว -1 ถึง 1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 0.8-1.2%