เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มซบเซาลงและส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้
"ภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อได้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก ขณะที่อัตราจ้างงานปรับตัวลดลงและราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้ผู้บริโภคต่างตื่นตัวเรื่องการลดการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังจับตาดูมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ร่วงลงอย่างหนัก" เบอร์นันเก้กล่าว
"แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐซบเซาลงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะซบเซาลงอีกในปีนี้ ปัจจุบันเราพบว่าภาวะผันผวนในตลาดการเงินได้สร้างความเสียหายต่อตลาดที่อยู่อาศัยหนักที่สุด การที่สถาบันการเงินในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์) ใช้มาตรการปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากขึ้นนั้น ส่งผลให้อัตราการกู้ยืมตกต่ำลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้ต่ำ และการที่สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยวงเงินกู้ประเภท 'จัมโบ้โลน' ก็ยิ่งสร้างปัญหาให้กับตลาดที่อยู่อาศัยหนักขึ้นด้วย" เขากล่าว
เบอร์นันเก้กล่าวว่า "จำนวนบ้านค้างสต็อคปรับตัวสูงขึ้นและจำนวนบ้านที่ถูกยึดพุ่งขึ้นแตะระดับสุงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผมคาดว่าตัวเลขการก่อสร้างบ้านมีแนวโน้มลดลงอีก"
"เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังเผชิญภาวะที่เป็นอันตราย เฟดจึงพร้อมที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ และจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อสกัดกั้นความเสี่ยงในหลายๆด้าน อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวในปลายปีนี้" เบอร์นันเก้กล่าว ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ตีความว่าเฟดอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนเชียลรายงานว่า การแถลงมุมมองเศรษฐกิจครั้งนี้ เบอร์นันเก้แถลงพร้อมกับเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ และคริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้และพอลสันไม่ได้ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทั้งสองเพียงแต่คาดว่าเศรษฐกิจจะซบเซาลงอีก อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้คาดว่า เฟดและคณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้
"เศรษฐกิจของเราชะลอตัวลง แต่ผมยังเชื่อว่าจะยังขยายตัวต่อไปได้" พอลสันกล่าว ขณะที่เบอร์นันเก้กล่าวว่า "ผมมองว่าเศรษฐกิจจะซบเซาลง แต่ก็เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วหลายครั้งและรัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.68 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ โดยมาตรการดังกล่าวท่านประธานาธิบดีบุชได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา"
แม้เบอร์นันเก้คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ แต่เขาระบุว่าความเสี่ยงที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจขาลงนั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่าตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดแรงงานจะตกต่ำลงรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเป็นไปได้ที่สถานการณ์ในตลาดสินเชื่อจะเข้าขั้นวิกฤติจนยากที่จะเยียวยาได้
นักวิเคราะห์คาดว่า เบอร์นันเก้กำลังส่งสัญญาณว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อที่เฟดรวมรวมได้
"การดำเนินการใดๆของเฟดในปีนี้จะขึ้นอยู่กับการประเมินเศรษฐกิจ และผลที่เกิดขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ เฟดยังคงยึดท่าทีระมัดระวังในเรื่องนโยบายการเงิน" เบอร์นันเก้กล่าว
นอกจากนี้ เบอร์นันเก้คาดการณ์ว่า "อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปานกลาง การที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้วทำให้เฟดตระหนักว่าไม่ควรประมาทในเรื่องเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เฟดจะติดตามดูตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคเอกชน อีกทั้งจับตาดูกระแสคาดการณ์ต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน นอกจากนี้ เฟดยังคงให้น้ำหนักกับตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลบ่งชี้สถานะทางเศรษฐกิจด้วย"
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐประจำเดือนม.ค.ลดลง 17,000 ตำแหน่ง นับเป็นสถิติที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง และสวนทางกับตัวเลขจ้างงานเดือนธ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 82,000 ตำแหน่ง
นายอาร์เธอร์ โฮแกน นักวิเคราะห์จากบริษัทเจฟเฟอรีส์ แอนด์ โค กล่าวว่า แถลงการณ์ครั้งล่าสุดของเบอร์นันเก้สะท้อนให้เห็นว่าเขามีมุมมองที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 175.26 จุด หรือ 1.40% แตะระดับ 12,376.98 จุดเมื่อคืนนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--