(เพิ่มเติม) กกร. มองศก.ไทยครึ่งปีหลังยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง ชี้ต้องหวังพึ่งการใช้จ่ายในประเทศช่วยหนุนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2019 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทั้งการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศมีสัญญาณที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เครื่องชี้ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เตรียมที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในวันที่ 1 ก.ย.62 ขณะที่จีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวน/ดอลลาร์ฯ ถือเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปี จากนั้นสหรัฐฯ ก็ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ซึ่งน่าจะนำมาสู่มาตรการเพิ่มเติมจากฝั่งสหรัฐฯ และส่งผลให้สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหราชอาณาจักรอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค.นี้

"ปัจจัยดังกล่าว สร้างแรงกดดันเพิ่มต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่แล้ว และเมื่อประกอบกับความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งผันผวน และอาจปรับแข็งค่าขึ้น ล้วนเป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อภาพการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี" ประธานที่ประชุม กกร.ระบุ

ทั้งนี้ นับจากต้นปี จนถึงล่าสุดวันที่ 6 ส.ค.62 เงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นอัตราที่แข็งค่ามากสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

นายปรีดี กล่าวว่า จากสถานการณ์ด้านต่างประเทศดังกล่าว แรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยคงต้องหวังพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจากภาครัฐ ทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และการเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

"ที่ประชุม กกร. จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยขณะนี้ จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2562 ไว้ตามกรอบเดิม" นายปรีดีระบุ

โดย กกร. ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ไว้ที่ 2.9-3.3% การส่งออก ขยายตัว -1 ถึง 1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 0.8-1.2%

ทั้งนี้ ตนเองยังคงการประเมินอัตราการส่งออกในปีนี้ระดับที่ต่ำสุดไว้ที่ -1% และขอติดตามสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้อีก 3 เดือนว่าจะทิศทางไปทางใด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคการส่งออกอยู่ในช่วงลำบาก ประกอบกับค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า สิ่งสำคัญ คือ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เน้นการบริโภคภายในประเทศ โดยฝากให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเข้าไปช่วยผลักดันโครงการต่างๆด้วย

พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันมาตรการระยะสั้น เช่น มาตรการทางภาษี มาตการช่วยเหลือภาคเกษตรและภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือมาตรการผ่านการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่เกิดจากเหตุระเบิดในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้น นายสุพันธ์ ประเมินว่า ส่งผลเชิงจิตวิทยาในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้ส่งผลในะระยะยาว และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการค้าขายกับกลุ่มประเทศ CLMV และการค้าตามแนวชายแดน เปิดด่านมากขึ้น และผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่าง 2 ประเทศ (Local Currency) ให้เกิดขึ้นจริง ทดแทนการซื้อขายผ่านเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้มีการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในชุมชมมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกลินท์ เปิดเผยว่า ทาง ส.อ.ท.และสภาหอการค้าไทย จะเข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อหารือและเสนอเรื่องให้ ธปท.พิจารณา แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นเรื่องใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ