(เพิ่มเติม1) บอร์ด กนง.มีมติ 5:2 ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เตรียมทบทวนประมาณการ GDP ปี 62 หลังเห็นสัญญาณชะลอกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2019 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และต่ำกว่าศักยภาพ โดยการส่งออกหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้oจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้วอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเร็ว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน กนง.ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในสภาวะที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป ช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ในการประชุม กนง.ครั้งต่อไปจะมีการทบทวนและประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้เดิม ขณะที่การส่งออกที่เคยประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวได้ 0% ในระยะต่อไปก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด เมื่อพิจารณาจากปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบที่เริ่มชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ