ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 1.50% ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดไว้ว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย ภายหลังจากที่มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อต้นเดือนธ.ค.61 และนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบมากกว่า 7 ปี
การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นไปตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของโลกที่ผ่อนคลายลง โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีธนาคารกลางถึง 5 จาก 11 ประเทศที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางของอินเดีย อาจกล่าวได้ว่าเป็น "การแข่งขันการผ่อนคลายนโยบายการเงิน"
ทั้งนี้ มติ กนง.ดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทผันผวน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงทันทีจากระดับ 30.757 บาท/ดอลลาร์ มาแตะระดับสูงสุดที่ 30.880 บาท/ดอลลาร์
ด้าน กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่สร้างความประหลาดใจให้ตลาดด้วยการลงมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.50% เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลงค่าอย่างรวดเร็วแตะระดับ 30.90 ต่อดอลลาร์ ก่อนที่กลับมาซื้อขายแถว 30.80 อ่อนค่าจากระดับที่ซื้อขายก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทยังคงแข็งค่ามากกว่า 5% และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ ในเอเชีย โดยทางคณะกรรมการ กนง.จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
คณะกรรมการ กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ และระบุว่าการชะลอตัวของภาคส่งออกเริ่มส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ กนง.ประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะต่ำกว่าระดับศักยภาพ ขณะที่สถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมไม่ได้เอื้อต่อการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ด้านแรงกดดันด้านราคา กนง. มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วง 1-4% นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังเพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
คณะกรรมการ กนง.มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 25 กันยายน 2562 การลงมติในวันนี้สามารถตีความได้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่แย่กว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ กนง.ย้ำถึงผลกระทบจากการที่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป และเน้นว่าได้ดำเนินมาตรการเพื่อจัดการความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ คณะกรรมการสองท่านมีความเห็นให้คงดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้มีแนวโน้มการผ่อนปรนนโยบายการเงินทั่วโลก แต่ยังไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำอยู่แล้ว สำหรับแนวโน้มต่อไป คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ 1.50% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยประเด็นสงครามการค้าโลกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการปรับมุมมองของธนาคาร