นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดย สคร. ได้จัดประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 19 แห่ง รวมถึงผู้บริหารบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่งที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อรับนโยบายในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจัดทำการลงทุนใหม่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2562 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ ผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ เช่น ให้เร่งรัดตรวจรับงวดงานให้เร็วขึ้น และเร่งรัดงวดงานที่ทำได้ทันทีให้ดำเนินการเร็วขึ้น รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเร่งจัดทำโครงการลงทุนเพิ่ม
โดยสำหรับรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน ให้พิจารณาเสนอโครงการลงทุนที่มีความพร้อมและมาดำเนินการในปี 2562 และสำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ให้พิจารณาปรับเพิ่มกรอบงบลงทุนปี 2563 โดยให้เน้นการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562 (ต.ค. - ธ.ค.62) ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้มอบหมายให้ สคร.จัดทำระบบการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นมากขึ้น และให้มีการประสานงานระหว่างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งหากติดขัดให้รายงาน รมว.คลังทันที
นายประภาศ กล่าวว่า ขณะนี้ สคร.มีมาตรการเร่งรัดและติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมีมาตรการระยะสั้น คือการกำกับการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแผน โดยให้กำหนดกรอบเวลาในแต่ละขั้นตอน การเร่งรัดการก่อหนี้โครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาโดยให้จัดทำแผนการก่อหนี้เป็นรายโครงการและรายงานความคืบหน้าให้ สคร.เป็นรายเดือน
ขณะที่มาตรการระยะกลาง ให้แก้ไขปัญหาระหว่างการดำเนินโครงการ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเร่งจัดทำโครงการเพิ่มและสะท้อนเบิกจ่ายจริง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นปีปฏิทินให้พิจารณาเสนอโครงการลงทุนที่มีความพร้อมและเร่งด่วน เพื่อขออนุมัติขยายกรอบงบลงทุนปี 2562 และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกรอบปีงบประมาณให้จัดทำประมาณการเบิกจ่ายให้สะท้อนความสามารถในการเบิกจ่ายลงทุนได้จริงด้วย
ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ปี 2562 มีผลการเบิกจ่ายในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.61- มิ.ย.62) จำนวน 129,815 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม โดยเป็นผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณจำนวน 71,525 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินจำนวน 58,290 ล้านบาท
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ สคร.กำกับดูแล 45 แห่ง ที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ และสามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าแผนหลายโครงการเฉพาะการลงทุนพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น งานก่อสร้างปรับปรุงขยายของการประปาส่วนภูมิภาค โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
ทั้งนี้ มีโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพรของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันโครงการเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง และเริ่มมีการตรวจรับงานและทยอยเบิกจ่ายได้แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาความล่าช้าในช่วงแรก ส่งผลให้การดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายของโครงการในภาพรวมยังล่าช้ากว่าแผน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง เร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าไปได้ เนื่องจากต่อจากนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับความผันผวนจากการส่งออก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวล โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม จะต้องเร่งติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
"ยอมรับว่าใน 6-7 เดือนระหว่างมีการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล การขับเคลื่อนการลงทุนทำได้ลำบาก แม้จะมีหลายหน่วยงานที่ทำได้ดี เช่น กฟผ. และ ปตท.จะทำได้ดี แต่บางกลุ่มก็ยังชะลอ จึงให้ทุกแห่งไปเร่งรัดใช้จ่ายในช่วงที่เหลือให้เข้าเป้าหมาย เพราะการใช้จ่ายรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ รวมถึงหากมีโครงการใหม่เข้ามาทำก็พร้อมสนับสนุน เช่น บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีแผนลงทุนท่อไร้สายในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ให้เร่งทำเลย" นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า การเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2562 ทั้ง 45 แห่ง ในช่วงที่ผ่านมา เบิกจ่ายจริงได้ 129,815 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของกรอบลงทุนทั้งหมด 317,951 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ทุกหน่วยงานต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้อีก 140,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการเบิกตกเป้าหมาย 39,000 ล้านบาท เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 95%
ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีหน่วยงานเกี่ยวข้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยปัญหาของ รฟท.เป็นปัญหาการออกแบบสัญญาในบางโครงการ แต่โครงการใหญ่ไม่มีปัญหาก็ให้ดำเนินการได้เลย ส่วน บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ต้องซื้อเครื่องบิน ขอให้ดูการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ ราคา และตารางการบิน ส่วนการลงทุนของ AOT ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 จะต้องเร่งเดินหน้า รวมถึงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานอื่นในต่างจังหวัด
"รัฐวิสาหกิจที่ลงทุนไม่ทัน กระทรวงการคลังจะยึดเงินหมดทุกแห่ง ซึ่งในส่วนของคมนาคมมีการสรุปผลความคืบหน้าทุกเดือน และจะมีการตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์" นายศักดิ์สยาม กล่าว