7 ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ประกอบด้วย บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น (SYMC) , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (บริษัทย่อย DTAC), บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ (ยูไอเอช) บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) , บมจ. เอแอลที เทเลคอม (ALT) และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัทย่อย ADVANC) เข้าพบนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที เพื่อแสดงความจำนงร่วมเช่าท่อร้อยสายลงใต้ดินในราคาที่เหมาะสม และเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขอัตราค่าเช่าดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายมีมติร่วมเช่าโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารในราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อสนับสนุนโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินจัดระเบียบเมืองให้สวยงามตามนโยบายรัฐบาล ในเส้นทางดำเนินการรื้อสายและถอนเสาไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พร้อมจัดระเบียบสายสื่อสารใหม่นอกเส้นทางรื้อถอนเพื่อความปลอดภัยเป็นระเบียบและปรับปรุงทัศนียภาพ ในขณะที่ทีโอทีมีโครงสร้างท่อร้อยสายอยู่ทั่วพื้นที่ กทม. ราว 2,500 กิโลเมตร เชื่อมั่นช่วยลดภาระประเทศ ไม่เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน สร้างประโยชน์ต่อภาพรวม เป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกราย รวมทั้งไม่กีดกันการแข่งขันทางการค้า
"หากทีโอทีลดราคาค่าเช่าลงมาในระดับที่เหมาะสมย่อมจะเกิดผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรม เพราะหากค่าใช้บริการท่อร้อยสายสูงเกินควรจะเป็นภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะประสบปัญหาในการประกอบกิจการต่อไป และอาจส่งผลกระทบต่อราคาค่าใช้บริการในภาพรวมอีกด้วย"ตัวแทนผู้ประกอบการ ระบุ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม 7 ราย ยังได้ร่วมศึกษาหาแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบร่วมกันต่อไป ซึ่งจะคาดว่าจะมีการสรุปรูปแบบชัดเจนและทดลองจัดระเบียบสายสื่อสารเร็วๆ นี้ โดยจะคำนึงถึงการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องทัศนียภาพ ความปลอดภัย รวมถึงสนองตอบต่อการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ด้านนายมนต์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของทีโอที ยืนยันว่ามีศักยภาพและความพร้อมอย่างเต็มที่ในการให้บริการเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินอย่างเต็มที่ หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมและแจ้งต่อกลุ่มผู้ประกอบการต่อไป