ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในการประชุมวันนี้(7 ส.ค.) ลงมาที่ 1.50% จาก 1.75% ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี สอดคล้องกับจังหวะและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งได้ทยอยผ่อนคลายนโยบายการเงินไปก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีน
จากถ้อยแถลงหลังการประชุมของกนง. ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กนง. ให้น้ำหนักของการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงินไปที่ปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ในช่วงข้างหน้า ตลาดเงินตลาดทุนคงรอติดตามว่า กนง. จะประเมินปัจจัยลบและผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร และสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพราะมุมมองดังกล่าวจะมีผลต่อการคาดการณ์ของตลาดต่อการกำหนดจุดยืน/ท่าทีของนโยบายการเงินในช่วงต่อไปด้วยเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวแปรที่จะต้องติดตามสำหรับการดำเนินนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า น่าจะอยู่ที่ 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1) ความรวดเร็วของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งจะรวมถึงขนาดของการปรับลดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนการตอบสนองของระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ต่อการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ และ 2) ความไม่แน่นอนของปัจจัยลบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสภาวะไม่ปกติในระยะข้างหน้า อาทิ ความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย