นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้จะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เร็วกว่ากำหนดที่ตลาดคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี 62 เหตุผลหลัก คือ แรงกดดันมาจากการที่เป็น Safe Haven Currency เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลในระดับสูง ทำให้ยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงนี้ทำให้มีแรงกดดันต่อค่าเงินบาทเพิ่มเติม และช่วงนี้ธนาคารกลางของหลายประเทศลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะทำให้การลดดอกเบี้ยของ กนง.ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นหรือมีนัยสำคัญมากนัก
"ระยะนี้ยังน่าจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาท โดยมองกรอบว่า ณ สิ้นปีนี้เงินบาทยังน่าจะอยู่ในกรอบ 30-31 บาท/ดอลลาร์ ยังอยู่ในโซนแข็งค่าเมื่อเทียบกับตอนต้นปี แต่เชื่อว่าทาง ธปท.คงจะมีมาตรการหรือเครื่องมือในการเข้ามาดูแล"นายยรรยง กล่าว
นายยรรยง กล่าวว่า ในระยะนี้หากรัฐบาลจะนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้ ควรเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีปัญหาในการปรับตัวทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาโครงสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เข้ามากระทบ
อีกมาตรการรูปแบบ น่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค โดยอาจจะเป็นมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย เช่น มาตรการภาษีต่างๆ การลดค่าครองชีพเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากนี้อาจจะต้องมีมาตรการในระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้เกิดการปรับตัวได้ในแง่ของการเพิ่มทักษะต่างๆ เพื่อให้กลุ่มประชาชนหรือเอสเอ็มอีเพิ่มความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อช่วยยกระดับรายได้ในอนาคต
"2-3 กลุ่มนี้คงต้องมีมาตรการเข้าไปรองรับเพื่อลดทอนผลกระทบต่างๆ...ซึ่งมาตรการเหล่านี้ต้องผสมผสานกันให้ดี"นายยรรยง กล่าว
ขณะที่นักบริหารเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สาเหตุที่เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องแม้ กนง.จะลดดอกเบี้ย เนื่องจากยังมีเงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยบวก คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง และนักลงทุนต่างชาติมองว่าเงินบาทยังเป็น Safe Haven เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความระมัดระวังต่อท่าทีของทางการไทยในการใช้มาตรการเข้ามาดูแลค่าเงินบาท
ส่วนนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เงินบาทมีทิศทางกลับมาแข็งค่า แม้จะอ่อนค่าไปบ้างหลัง กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากยังมีกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามา เพราะนักลงทุนยังมีความกังวลเรื่องปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อีกทั้งเห็นว่าการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคนี้จะให้ผลตอบแทนดีกว่าการซื้อดอลลาร์ โดยไทยยังเป็นตลาดที่นักลงทุนให้ความสนใจติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.เมื่อวานนี้ไม่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากเป็นทิศทางเดียวกับการปรับลดดอกเบี้ยของทั่วโลกในช่วงนี้ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยยังเกินดุลการค้าเป็นจำนวนมาก แม้การส่งออกจะชะลอตัวลงแต่การนำเข้าก็หดตัวลงมากเช่นกัน ซึ่งส่งสัญญาณว่าการส่งออกในระยะต่อไปจะขยายตัวได้น้อย และสะท้อนไปยังภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่ดีนัก
ส่วนกระแสเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้เป็นการลงทุนในระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรมากกกว่า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ผู้รับผิดชอบต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ