(เพิ่มเติม) "กรีนสแปน"เตือนศก.สหรัฐใกล้ถดถอย ชี้ราคาน้ำมันแพงกระทบศก.รุนแรง

ข่าวต่างประเทศ Friday February 15, 2008 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่า มีโอกาสถึง 50% หรือมากกว่า ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
"ผมคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐใกล้ถดถอยเต็มทีแล้ว ก่อนหน้านี้ธุรกิจของชาวอเมริกันเคยเฟื่องฟูก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก คำถามในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือยัง แต่อยู่ที่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยยาวนานเพียงใดและอยู่ในระดับลึกเพียงใด" กรีนสแปนกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมผู้บริหารอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมวิจัยพลังงานเคมบริดจ เมืองฮุสตัน
"อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าขั้นถดถอย และผมเชื่อว่าภาวะสินเชื่อตึงตัวไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับธุรกิจในอเมริกา เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนที่สูงมาก" กรีนสแปนกล่าว
"ถ้าหากธุรกิจในอเมริกาไม่เคยเฟื่องฟูจนถึงขีดสุดมาก่อน เราคงมองไม่มีภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย" เขากล่าว
ทั้งนี้ กรีนสแปนกล่าวว่า "ตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากวิกฤตการณ์ในตลาดซับไพรม์ ผมคาดว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆจะยังคงขาดทุน จนกว่าราคาที่อยู่อาศัยจะมีเสถียรภาพ"
เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมถามว่า "วิกฤตการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยมาถึงภาวะตกต่ำที่สุดแล้วหรือไม่" กรีนสแปนตอบเพียงว่า "เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีเส้นทางอีกยาวไกล"
นอกจากนี้ กรีนสแปนกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กรีนสแปนกล่าวว่า เศรษฐกิจไม่ได้เผชิญกับภาวะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น)
เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่า การแสดงความคิดเห็นของกรีนสแปนมีขึ้นหลังจากที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนปัจจุบัน ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มซบเซาลงและส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "ภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อได้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก ขณะที่อัตราจ้างงานปรับตัวลดลงและราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้ผู้บริโภคต่างตื่นตัวเรื่องการลดการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังจับตาดูมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ร่วงลงอย่างหนัก"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ