"สมคิด" สั่งตั้งคกก.ร่วมจากหน่วยงานดูแลเศรษฐกิจ หวังขับเคลื่อนนโยบายการเงินการคลังสอดคล้องกัน รับมือภาวะผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2019 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในระหว่างการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของทุกส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจว่า จากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนนั้น รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังของประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน

"ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ เขาก็กังวลเรื่องของการส่งออก เพราะถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ส่งออกแล้วขาดทุนเขาคงไม่มา จึงบอกไปว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามใกล้ชิดกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป ใครจะบอกว่าเป็นอิสระ จากนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะการเงินการคลังต้องไปด้วยกัน มือซ้ายมือขวาต้องไปด้วยกัน โดยคณะกรรมการชุดที่ว่าจะรีบตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน และทุกฝ่ายก็เห็นชอบร่วมกันแล้ว"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในระยะสั้นต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกรณีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะขึ้นอัตราภาษีสินค้าจีนในรอบล่าสุด ซึ่งส่งผลทำให้หุ้นตกทั่วโลก รวมถึงไทยที่เมื่อวานหุ้นตกไป 2% กว่า ก็ยังถือว่าตลาดหุ้นไทยยังค่อนข้างแข็งแรงอยู่

สำหรับการบริโภคภายในประเทศนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความเชื่อมั่นของคนในประเทศ ซึ่งในช่วงจังหวะค่าเงินบาทแข็ง นักลงทุนไทยต้องใช้จังหวะในลงทุนในประเทศให้มากขึ้น รัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ต้องถือโอกาสลงทุนในช่วงนี้ เพราะจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่า

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจล่าช้าไป 3-4 เดือน แต่ขณะนี้มีการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าแม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี เพราะรู้จักกันมานาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ที่รู้จักมามากกว่า 20 ปี พร้อมกับยืนยันว่า สามารถปรึกษาหารือได้ตลอด ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง หรือไม่ลงรอยกันแน่นอน

นายสมคิด ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ไม่ควรมองระยะสั้นเกินไป แต่ต้องมองไปที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งทุกกระทรวงต้องให้ความสำคัญการต่อยอดโครงการสำคัญจากรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเรื่องแรก คือการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก แบ่งเป็น 3 เฟส เริ่มจากขายแนวความคิดช่วง 2 ปีแรก เพื่อให้เห็นว่าเป็นโครงการใหญ่ ต้องทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อดึงนักลงทุนมาลงทุนใน EEC จากนั้นจะเป็นเรื่องของการลงทุนด้านดิจิทัล โดยได้เน้นย้ำกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องทำให้ 5G เกิดขึ้นให้ได้ในปีหน้า

ส่วนเฟส 2 ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้นักลงทุนมาไทยให้ได้มากที่สุด และเฟสสุดท้าย คือ การรู้จักใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในประเทศขนาดใหญ่ทั้ง 3 ประเทศ ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต้องมีการประสานความร่วมมืออย่างเท่าเทียม ไม่มีเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งนอกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจแล้ว นโยบายด้านความมั่นคงก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต่างประเทศให้ความสำคัญด้วย

สำหรับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีการพัฒนา ที่ผ่านมามีการตัดตอนระหว่างกัน ไม่ได้มีการยกขึ้นมาต่อยอด งานพัฒนาเกษตรกรกลับไปอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งที่ควรอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาในกลุ่ม SMEs ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของไทยเป็นหลัก

นายสมคิด กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำต้องมีการพัฒนาด้านการศึกษา เช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง แต่เป็นพื้นฐานของกระทรวงการคลังที่ทำเพื่ออนาคตข้างหน้า สามารถส่งต่อความช่วยเหลือถึงคนชรา สตรีมีครรภ์ และเด็ก โดยต้องมีความชัดเจนในแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหารือกับสำนักงบประมาณแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ