นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มแข็งค่า และมีโอกาสแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 30.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.70-30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ก็ยังยังชะลอน้อยกว่าประเทศอื่น
อีกทั้งตัวเลขการส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย และยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าตอนนี้จะมีการไหลออกไปบ้าง แต่ก็ไหลออกไปน้อยกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นต่อการนำเงินมาพักในประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าอยู่ แม้ว่าเมื่อวานนี้ (7 ส.ค. 62) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี เพื่อลดความร้อนแรงของเงินบาทที่แข็งค่าไปมากในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม
พร้อมกันนี้ ยังมองว่า หากเศรษฐกิจไทยปี 62 มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 3% ก็มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ลงไปอยู่ที่ 1.25% ซึ่งต้องติดตามว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเป็นอย่างไร โดยที่ธนาคารคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/62 แต่ยังคงต้องหวังแรงกระตุ้นจากภาครัฐว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นออกมาอย่างไรในช่วงปลายปีนี้ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังสามารถเติบโตได้สูงกว่า 3% โดยที่ธนาคารยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 3.3%
"เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการ Slowdown ลงตามกัน เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำทั่วโลก และมีปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่สร้างความผันผวนและความไม่แน่นอน และ Central Bank ในหลายประเทศเริ่มใช้เครื่องมือนโยบายการเงินเข้ามาพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากนโยบายการคลังในหลายประเทศไม่สามารถที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้ กนง.ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ และชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท แม้ว่าจะทำให้ Gap เหลือน้อยลงก็ตาม ช่วงที่เหลือจากนี้ก็คงต้องหวังรัฐบาลว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างไร ซึ่งหาก GDP ไทยไม่สามารถโตถึง 3% ได้ ก็คาดว่ามีโอกาสที่กนง.จะปรับดอกเบี้ยลงได้อีก แต่ผลบวกของการลดดอกเบี้ย อาจจะมีระยะเวลาที่ส่งผลต่อบวกต่อเศรษฐกิจไทยจริงๆ ใช้เวลาราว 2 ปี" นายพชรพจน์ กล่าว