นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับกรมสรรพสามิตให้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตยาเส้น จากก่อนหน้านี้ที่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นไปกว่า 20 เท่า มาอยู่ที่ระดับ 0.1% ต่อกรัม จากเดิมอยู่ที่ 0.005% ต่อกรัม โดยจะให้ปรับลดลงมาเหลือ 5-6 เท่า เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมากจากการดำเนินการดังกล่าว
"การปรับลดภาษียาเส้นให้เหลือ 5-6 เท่า น่าจะเป็นระดับที่เกษตรกรปรับตัวได้ทัน และที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบได้มาร้องเรียนกับกระทรวงการคลังเพื่อให้ลงไปดูในเรื่องนี้ ซึ่งถือว่าตรงนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาช่วยเหลือ"
รมช. คลัง กล่าว่า ความตั้งใจจริงต้องการจะปรับลดลงไปให้อยู่ในอัตราภาษีเดิม แต่กรมสรรพสามิตได้ให้ข้อคิดเห็นว่า แม้ว่ารายได้จากการเก็บภาษียาเส้นจะไม่มาก และหากยกเลิกการเพิ่มอัตราการจัดเก็บดังกล่าว ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องข้อสัญญา โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัยที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับองค์กรอนามัยต่างประเทศ เพื่อต้องการให้ลดการบริโภคยาเส้นและบุหรี่ลง
"การดูแลสุขภาพมีความจำเป็นก็จริง แต่อาชีพเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ก็จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือไม่แพ้กัน เราต้องขึ้นภาษียาเส้นในระดับที่เขาปรับตัวได้ทัน ใบยาสูบมีโทษ ทำลายสุขภาพก็จริง แต่อย่างอื่นก็มีเหมือนกัน เช่น ข้าวมอลล์ ที่นำไปทำเบียร์ก็ทำลายสุขภาพเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูให้เท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ" รมช.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า ในฐานะที่ดูแลการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จะต้องมีการทบทวนการเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ออกไปอีก ที่จากเดิมขยับไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.63 เพราะเรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ปลูกใบยาสูบด้วย
"ไม่อยากให้มีการปรับขึ้นภาษี 40% ทันทีเหมือนกัน ส่วนจะมีแนวทางปรับขึ้นอย่างไรนั้น จะทยอยปรับขึ้นตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอให้ปรับขึ้น 5% ทุก 2 ปี จนครบ 40% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะหารือกับกรมสรรพสามิตต่อไปว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่"