ธปท. พร้อมผลักดันใช้สกุลเงินท้องถิ่นลดความเสี่ยงค่าเงินผันผวน-หนุน SME เข้าถึงแหล่งทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 9, 2019 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (8 สิงหาคม 2562) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับ ธปท. เกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงิน มาตรการและแนวนโยบายทางด้านการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ SME ไทย โดยมีประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. สภาหอการค้าฯ และ ส.อ.ท. สนับสนุนการตัดสินใจของ กนง.ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อดูแลเศรษฐกิจในภาวะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ระดับ 1.50% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค และต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ

2. ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าประมาณ 5% เป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ (USD) และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกที่หดตัว แต่การนำเข้าที่ติดลบมากกว่า ในขณะที่การลงทุนอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยกันแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมดุลในเรื่องฐานะด้านต่างประเทศ รวมทั้งเร่งให้เกิดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกเพ่งเล็งว่าแทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านการค้า การอ่อนหรือแข็งของค่าเงินบาทเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน จะมีทั้งคนได้คนเสีย ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีหลายวิธี เริ่มจากการเลือกกำหนดราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินบาทหรือสกุลเงินคู่ค้า (Local Currency) เพื่อลดความเสี่ยงที่เงินสกุลหลักมีความผันผวน ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบ 80% แม้ค้าขายโดยตรงกับสหรัฐฯ เพียง 10% โดย ธปท. สภาหอการค้าฯ และ ส.อ.ท.จะร่วมกันผลักดันผ่านธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการให้เลือกใช้เงินบาทหรือ Local Currency มากขึ้น รวมทั้งเห็นพ้องกันในการสนับสนุนให้ภูมิภาคมี Payment Connectivity เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และค่าใช้จ่ายของแรงงานในการโอนเงินกลับประเทศ

3. ที่ประชุมหารือเรื่องมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เห็นว่า มาตรการนี้ช่วยลดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่ไม่เหมาะสมหรือสินเชื่อเงินทอน และส่งผลดีในในเรื่องราคาสำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก โดยบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โต 14.2% โดยการซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ แต่การกู้หลังที่ 2 ขึ้นไปหดตัว 13% ซึ่งเป็นผลจากคอนโดมีเนียมเป็นหลัก ในขณะที่เริ่มเห็นราคาของคอนโดมีเนียมปรับลดลง ทำให้คนที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่จริง (real demand) ซื้อได้ถูกลง อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลเพียง 3 เดือน โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์และรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นผู้กู้ร่วม ซึ่ง ธปท. รับไปพิจารณาต่อไป

4. ที่ประชุมเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งในมิติการมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเจรจากับสถาบันการเงิน และการใช้ข้อมูลใหม่ๆ ในการขอสินเชื่อ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ผลักดันในหลายส่วน อาทิ การผลักดันให้สถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลอื่นในการพิจารณาสินเชื่อ (Information-based Lending) การส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น P2P Lending การสนับสนุนใช้ FinTech e-Payment เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

5. ธปท. สภาหอการค้าฯ และ ส.อ.ท. เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะกระทบความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้จะเป็นต้นทุนแฝงของประเทศ เป็นต้นทุนของทุกภาคส่วน โดยมีหลายเรื่องที่ ธปท. สภาหอการค้าฯ และส.อ.ท.จะทำงานร่วมกัน อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการกำหนดราคา หรือการแก้ปัญหา SME เมืองรอง และการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ SME ซึ่งจะช่วยสถานการณ์สภาพคล่องและฐานะการเงินของ SME เพื่อให้ SME ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ