นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 4.2% ลดลงจาก 5.6% ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ
สินเชื่อธุรกิจ (คิดเป็น 65.1% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 1.7% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) เติบโตในอัตราที่ลดลงจาก 4.4% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.6% จากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ในภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ และบริการ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจในภาคสาธารณูปโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 0.1% จากที่ขยายตัว 1.5% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการคืนหนี้ของ SME รายใหญ่ ซึ่งนำเงินจากการออกหุ้นกู้มาทยอยชำระหนี้
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (คิดเป็น 34.9% ของสินเชื่อรวม) เติบโตลดลงเล็กน้อยจาก 10.1% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 9.2% โดยหลักมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตลดลง หลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้และสินเชื่อรถยนต์ที่เติบโตลดลงตามยอดขายรถยนต์ที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน
ส่วนคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 2.95% โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 450.6 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 3.3 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) เพิ่มขึ้นจาก 2.56% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.74% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/62 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 60.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่สำคัญมาจากเงินปันผลของบริษัทในเครือที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยจากค่านายหน้าขายหลักทรัพย์ค่านายหน้าขายประกันและค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นจาก 1.20% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.26% ทั้งนี้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงจาก 2.82% มาอยู่ที่ 2.75%
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,637 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุนและการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่ง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 18.5% และมีเงินสำรองอยู่ที่ 680.6 พันล้านบาท โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 195.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ 180.0%
"ระบบธนาคารพาณิชย์ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูงสามารถรองรับความท้าทายในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้น"ธปท.ระบุ