นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยถึงการจัดเก็บรายได้ ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 และในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61- ก.ค.62) โดยการจัดเก็บรายได้กรมศุลกากร ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 สามารถจัดเก็บรายได้ รวมทั้งสิ้น 48,002 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 914 ล้านบาท หรือ 1.9% แยกเป็นรายได้ศุลกากร 9,378 ล้านบาท และรายได้ที่จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 38,624 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่ลดลงนั้น เป็นการลดลงในส่วนของรายได้ที่กรมฯ จัดเก็บให้หน่วยงานอื่น
ในส่วนของรายได้ศุลกากร 9,378 ล้านบาทนั้น สูงกว่าประมาณการ 1,178 ล้านบาท หรือ 14.4% และสูงกว่าปีก่อน 808 ล้านบาท หรือ 9.4% เนื่องจากมูลค่านำเข้าชำระอากรขยายตัว 7.5% โดยจัดเก็บอากรเพิ่มขึ้นจากสินค้ารถยนต์นั่ง หอม/กระเทียม รถยนต์โดยสาร ส่วนประกอบยานยนต์ และเครื่องยนต์ดีเซล
สำหรับการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่นเก็บได้ 38,624 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,722 ล้านบาท หรือ 4.3% จำแนกเป็น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ จำนวน 26,801 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 1,251 ล้านบาท คิดเป็น 4.5% เป็นการจัดเก็บลดลงในประเภทสินค้าน้ำมันดิบ รถยนต์ขนส่งของ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และรถยนต์นั่ง
- ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 8,041 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 302 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% เป็นการจัดเก็บลดลงในประเภทสินค้ารถยนต์ขนส่งของ รถยนต์นั่ง และบุหรี่
- ภาษีเพื่อมหาดไทย จัดเก็บได้ 3,782 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 169 ล้านบาท คิดเป็น 4.3%
ทั้งนี้ ช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ต.ค.61 - ก.ค.62) กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ รวมทั้งสิ้น 499,646 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,453 ล้านบาท คิดเป็น 3.4% แยกเป็นรายได้ศุลกากร 91,109 ล้านบาท และรายได้ที่เก็บให้หน่วยงานอื่น 408,537 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
การจัดเก็บรายได้ศุลกากร 91,109 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,909 ล้านบาท (ประมาณการ 83,200 ล้านบาท) คิดเป็น 9.5% และสูงกว่าปีก่อน 978 ล้านบาท คิดเป็น 1.1% โดยจำแนกเป็น อากรขาเข้า จัดเก็บได้ 89,383 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,253 ล้านบาท หรือ 10.2% อากรขาออก จัดเก็บได้ 177 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 92 ล้านบาท หรือ 1.1 เท่า ค่าธรรมเนียม จัดเก็บได้ 1,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 436 ล้านบาท หรือ 22.0%
สำหรับรายได้ที่กรมศุลกากรจัดเก็บให้หน่วยงานอื่นเก็บได้ 408,537 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 15,475 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% โดยจำแนกเป็น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 276,924 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 11,082 ล้านบาท หรือ 4.2%
- ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 91,676 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,860 ล้านบาท หรือ 3.2%
- ภาษีเพื่อมหาดไทย จัดเก็บได้ 39,937 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,532 ล้านบาท หรือ 4.0%
ทั้งนี้ ใน 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรจะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ และสูงกว่าคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง โดยการจัดเก็บรายได้อาจใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าที่อาจหดตัวลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม