นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... เพื่อห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 428 รายการ ครอบคลุม "ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่อื่นๆ สวิทช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล"
ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าว เป็นไปตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดในประกาศ เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 และเพื่อให้ความร่วมมือกับนานาประเทศตามพันธกรณีอนุสัญญาบาเซล ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายหรือของเสียที่อาจไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสกัดกั้นไม่ให้มีการนำของเสียของอันตรายเข้ามาเป็นขยะในประเทศไทย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน โดยหลังจากนี้กรมฯ จะขอความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังมีจุดยืนในการไม่นำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการเจรจาภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ต่างๆ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) แต่การเจรจาเปิดตลาดสินค้าดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดช่องว่างให้ประเทศคู่เจรจาสามารถส่งขยะเข้ามายังประเทศไทยได้อย่างที่หลายฝ่ายมีความกังวล เนื่องจากการออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าใดๆ ก็ตาม โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 จะเป็นการห้ามนำเข้าสินค้านั้นๆ จากต่างประเทศโดยไม่มีข้อยกเว้น
จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 38.32 ล้านตัน ลดลงจากปี 2560 ประมาณ 28% และส่งออก 5.93 ล้านตัน ลดลงจากปี 2560 ประมาณ 21%