(เพิ่มเติม) รัฐบาล เคาะกำหนดประชุมครม.เศรษฐกิจนัดแรก 16 ส.ค.นี้ถกมาตรการกระตุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 13, 2019 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้กำหนดการประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.นี้ โดยกระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจพิจารณา

"แม้จะมีความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และ ครม.รับทราบสถานการณ์ดี และต้องการให้สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และผู้บริโภคด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมา"นางนฤมล กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าการจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ก็ตาม ขอให้ทุกกระทรวงช่วยกันดู ไม่ใช่แค่กระทรวงการคลังเท่านั้น แต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้แต่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอุดมศึกษาก็ต้องช่วยคิดมาตรการทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวร่วมกัน เพื่อจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจแค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น บางส่วนอาจจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงฝากให้ทุกๆ กระทรวงพิจารณาโมเดลเศรษฐกิจที่เรียกว่า BCG ที่เสนอมาโดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ด้วย

สำหรับ BCG โดย B ย่อมาจาก Bio Economy, C ย่อมาจาก Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น นำขยะกลับมาผลิตใหม่ ส่วน G คือ Green Economy

"ท่านนายกรัฐมนตรีระบุว่าโมเดลนี้แหละที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างแท้จริง จึงฝากให้ทุกกระทรวงเอาโมเดลนี้ไปคิดเพื่อแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อไป นอกเหนือจากมารตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะมีออกมา"โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นางนฤมล กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากอุปสงค์ลดลง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยดัชนีชี้วัดต่างปรับตัวลดลง ยกเว้นด้านการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาทดแทนนักท่องเที่ยวจีน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่หดตัวลง -2.7% ถึง -2.8% แต่ยังดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจะมีการจัดเตรียมมาตรการรองรับ

ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น หลังจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.50% เมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ค่าเงินบาทให้ขณะนี้กลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ย ซึ่ง กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังจะหามาตรการมาดูแลต่อไป

"เราไม่ได้อยากให้เงินบาทอ่อนค่า แต่อยากให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่กระทบการส่งออก เนื่องจาก 70% ของจีดีพียังพึ่งพาการส่งออก" นางนฤมล กล่าว

นอกจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานที่ประชุม ครม.ว่า นอกเหนือจากการตั้ง ครม.เศรษฐกิจแล้วยังมีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ธปท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การเข้าไปควบคุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ