(เพิ่มเติม) ธปท.ลงนามร่วมมือสมาคมธนาคารไทยตีกรอบสถาบันการเงินปล่อยกู้รับผิดชอบต่อสังคม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 13, 2019 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันนี้จะมีการลงนามถึงแนวทางการปฏิบัติใหม่ในการปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันของสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่จะร่วมกันกำหนดนโยบายของแต่ละสถาบันการเงิน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้การทำงานของสถาบันการเงินมีบทบาทที่สอดคล้องกับความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น

นายวิรไท กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องอาศัยการมองกว้างและมองไกลถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะย้อนกลับมาที่สถาบันการเงินด้วย ซึ่งบางครั้งอาจมองแค่เพียงการปล่อยสินเชื่อแล้วลูกหนี้ไปทำธุรกิจตามกฎหมายหรือไม่นั้นอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้นหากหลายโครงการแม้จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับไปสร้างผลข้างเคียงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ก็อาจจะกลับกลายมาเป็นหนี้เสียและเป็นความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นๆ ได้ สิ่งที่จึงมีความจำเป็นที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในด้านเครดิตของสถาบันการเงินนั้น

ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีสถาบันการเงินจำนวนมากที่ไม่ให้ความสำคัญและไม่ให้ความสนใจกับความเสี่ยงในเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่จะกลายมาเป็นความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากสังคม และประชาชน การที่สถาบันการเงินไม่สามารถปฏิบัติได้ตามความคาดหมายของสังคม จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ซึ่งจะวนกลับมาเป็นความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินด้วย

ทั้งนี้ มองว่าสถาบันการเงินในไทยและในอาเซียนอาจจะตามหลังพัฒนาการด้านความยั่งยืนของสถาบันการเงินในยุโรป และอเมริกา ดังนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้บริหารของสถาบันการเงินได้เรียนรู้ถึงแนวปฏิบัติที่ดี และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน หน้าที่ของสถาบันการเงิน และผลจากการผลักดันธนาคารเพื่อความยั่งยืนนี้ไม่ใช่แค่ให้เกิดการตระหนักรู้หรือความสนใจเท่านั้น แต่เราคาดหวังจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่จะทำให้ประชาชนสัมผัสได้

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เห็นพัฒนาการที่หลากหลายมิติของสถาบันการเงินไทยในการให้ความสำคัญกับชุมชน และสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรมคือ บัญชีเงินฝากพื้นฐาน ที่ให้ผู้สูงอายุ และประชาชนที่มีฐานะยากจนสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารโดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการเงินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และพบว่าในช่วง 1 ปีที่ได้เริ่มดำเนินการมา มีสถาบันการเงินหลายแห่งได้ส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมีบัญชีเงินฝากพื้นฐานมากกว่า 1 ล้านบัญชีแล้ว

ผู้ว่าธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคการธนาคาร ในฐานะตัวกลางทางการเงินได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะยกระดับการทำงานของภาคสถาบันการเงินไทยด้วยการมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติร่วมกันในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในไทยมีกระบวนการสนับสนุนการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้สถาบันการเงินเอง และบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้ ตลอดจนพร้อมนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า

"การมุ่งสู่การพัฒนาการธนาคารเพื่อความยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผล และตรวจสอบการปฏิบัติ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่น่าเชื่อถือในเวลาที่เหมาะสม" นายวิรไท กล่าว

พร้อมระบุว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญมากของภาคสถาบันการเงินไทยบนการประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแต่มีธรรมาภิบาลในองค์กร แต่ยังมีธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีความเชื่อร่วมกันว่าระบบสถาบันการเงินเป็นกลไกทางการเงินที่สำคัญที่ไม่เพียงมีบทบาทในการสนับสนุนทางการเงินผ่านกลไกสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความสมดุลที่สามารถป้องกันและยับยั้งความเสี่ยงที่สามารถขยายผลเป็นความเสี่ยงทางการเงินและทางเศรษฐกิจของประเทศได้เสมอ

"เมื่อใดที่สถาบันการเงินของประเทศมีความเข้าใจและความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบในการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล เมื่อปฏิบัติร่วมกันและต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการทางการงิน และประเทศในระยะยาว" นายปรีดีระบุ

สำหรับแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่อที่ ธปท.ได้ริเริ่มนี้ จึงมีความสำคัญ โดยมีแนวทาง 4 ด้าน คือ 1.การแสดงเจตนารมย์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 2.การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย 3.การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน และ 4.มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล

ในขณะเดียวกัน ยังมุ่งหวังให้ทุกธนาคารตระหนักถึงพันธสัญญาที่จะร่วมสร้างวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงิน และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง และการจัดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมอีกประการหนึ่งด้วย โดยพฤติกรรมและอุดมการณ์เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอลและรากฐานที่สำคัญของระบบสถาบันการเงินไทยต่อหน้าที่ในการ่วมพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ