นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ได้รับทราบว่า ธปท.มีมาตรการต่างๆ ในการช่วยดูแลค่าเงินบาทเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องอยู่ภายในเงื่อนไขที่ไม่ถูกประเทศอื่นๆ กล่าวหาว่ามีการแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ธปท.ได้ให้ข้อมูลว่าการที่เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมานั้น ปัจจัยสำคัญเป็นผลจากที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ได้แข็งค่าจากการที่มีเงินทุนไหลเข้ามาพักเพื่อเก็งกำไรในประเทศเป็นปัจจัยหลัก "ค่าเงินบาทในระดับนี้ไม่ใช่ไม่เป็นอุปสรรค มันเป็นอุปสรรคอยู่แล้ว แต่มันมีกลไกที่มาจากเราได้ดุลการค้ามากๆ ธปท.ก็พยายามดูแลในระดับหนึ่ง แต่ถ้าดูแลมากไป ก็จะถูกประเทศอย่างสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีว่าเราเป็นประเทศที่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ดังนั้นเราจึงต้องระวังตรงนี้" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ยังได้แนะนำแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบของภาคธุรกิจจากเงินบาทแข็งค่า 4 ข้อ คือ 1.ให้ผู้ประกอบการใช้สกุลเงินบาทในการทำการค้าระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน "หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการของเรา เสนอราคาเป็นเงินบาทได้ ก็จะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไป" นายสุริยะ ระบุ 2. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากการส่งออก 3. เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ใช้โอกาสที่บาทแข็งเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น เพราะทำให้สามารถนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศในราคาถูกลง 4. เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในต่างจังหวัดด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจการลงทุน ไม่ใช่การสนับสนุนเฉพาะแหล่งเงินทุนเพียงอย่างเดียว นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้มีการรายงานข้อมูลการหารือกับ ธปท.ในวันนี้ให้กับรองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป