นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนก.ค. ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 46.7 จากระดับ 47.1 ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน และมีดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.2 จากระดับ 48.7 ในเดือนมิ.ย.
ความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการส่งออก สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรทำให้เกิดความเสียหาย และการส่งออกของประเทศไทยในเดือนมิถุนายนและในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังคงมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าทุกภูมิภาคปรับลดลงทั้งหมดจากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง, ประชาชนมีความเหลื่อมล้ำ, จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดการณ์, ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น แต่นักธุรกิจในภูมิภาค มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้จ่ายต่อเนื่อง, การขยายตัวของกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ตามนโยบยายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
"ผู้ประกอบการทั่วประเทศต้องการให้เร่งหารือกับสถาบันการเงินภาครัฐให้ช่วยผ่อนคลายกฎต่างๆ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้มากขึ้น รวมถึงอยากให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพราะมั่นใจว่าหลายธุรกิจยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเสริมสภาพคล่องในช่วงที่ภาวะการบริโภคซบเซา หากได้เงินกู้ในระบบก็จะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยได้"
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไปด้วย ประกอบกับ สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและสร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท, การส่งออกของไทยในครึ่งแรกของปีลดลง เป็นต้น
"หอการค้าไทย ต้องการให้ภาครัฐดูแลปัญหาในเรื่องของค่าเงินบาทในปัจจุบันที่เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลง ให้อ่อนค่าอย่างมีเสถียรภาพ ต้องการให้พัฒนาเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นพร้อมกับแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาสินค้า ออกมาตรการและวางแผนในการเฝ้าระวังเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนซื้อสินค้าและท่องเที่ยวในประเทศเพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินให้ได้อย่างทั่วถึง และออกนโยบายที่สนับสนุนเอสเอ็มอีเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น"