แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำข้อมูลทุกด้านของแต่ละฝ่ายมาหารือถึงข้อดีข้อเสียของการประกาศบังคับใช้สิทธิ์ผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร(CL) ในยารักษามะเร็ง 4 ชนิด
โดยกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าการใช้ CL น่าจะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา เพราะยังสามารถใช้แนวทางอื่นๆ ได้อีก เช่น ใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าในกรณีที่ผู้นำเข้ายามีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาดเพียงผู้เดียว หรืออาจใช้กลไกของคณะทำงานกำหนดราคายากลางของกรมการค้าภายใน เป็นต้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของปลัด 3 กระทรวงได้พิจารณาถึงผลดีและผลเสียของการใช้ CL อย่างละเอียด ทั้งด้านการเข้าถึงยา, การประหยัดเงินตราที่จะนำเข้ายาจากเจ้าของสิทธิบัตร, การที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างการทบทวนสถานะของไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 310 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่อาจมีผลทำให้ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่บัญชีประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรง(PFC) ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า เช่น การตัด GSP สินค้าไทย
ทั้งนี้เมื่อหาข้อเท็จจริงด้านต่างๆ ได้แล้ว จะต้องสรุปทางเลือกในการแก้ปัญหาให้กับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงได้พิจารณาต่อไป
ด้านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ คาดว่า ใน 1-2 สัปดาห์นี้ รัฐมนตรีของทั้ง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะได้หารือร่วมกันถึงการหาทางออกหลังจากกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประกาศใช้ CL ในยารักษาโรคมะเร็งไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็จะไม่ให้เกิดกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศด้วย
"ปลัด 3 กระทรวงได้นำข้อมูลในทุกด้านมาหารือกันถึงผลดี และผลเสีย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีของ 3 กระทรวงให้พิจารณาต่อ คาดว่าจะประชุมปลายสัปดาห์หน้าหรือต้นสัปดาห์ถัดไป ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีจะต้องมีความชัดเจนในทุกๆ ด้าน จากนั้นจะสรุปเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย" นายมิ่งขวัญ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--