นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อยื่นสมุดปกขาว โดยมี 6 ข้อเสนอด้วยกัน ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชน 2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชน 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 4.สนับสนุนโครงการที่สำคัญของภาครัฐให้ดำเนินการต่อเนื่อง 5.เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม 6.ยกระดับทักษะ ความรู้ และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ คงต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นคนหมู่มากของระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าคงประคับประคองได้ยาก เพราะการส่งออกหดตัวจากปีก่อน ซึ่งคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวติดลบจากปีก่อน
สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐนั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐมนตรีทุกกระทรวงต่างเร่งรัดการทำงาน แต่ที่เป็นห่วงคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่ม SME และฐานราก
นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะร่วมหารือกับทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เป็นคณะทำงานย่อยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกว่าคณะกรรมการชุดใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบันที่ได้มอบข้อเสนอให้กับรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางและนโยบายของรัฐบาลรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ โดยไปพิจารณาเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม เชื่อมั่นว่า กกร.จะทำงานร่วมกับรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อช่วยกันหาแนวทางและวิธีการทำงานภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้า แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้ประกาศลดการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำปี 62 ลงมาอยู่ที่ 0-1% จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะสามารถโตได้ราว 1.5-2.5% โดยเป็นการปรับลดคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เคยเติบโตถึง 3.2% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ GDP ในช่วงไตรมาสสองยังมีการขยายตัวจากปีที่แล้วเพียง 0.1% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีของสิงคโปร์ รัฐบาลและเอกชนไทยต่างทราบดีถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญเช่นกัน จึงหารือแนวทางในการผนึกกำลังกันสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสห้กับประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่า รัฐบาลจะดำเนินการให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มและประเทศชาติให้มากที่สุด รวมถึงการดูแลในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับคณะรัฐมนตรีก็กำลังขับเคลื่อนไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ร่วมกัน รวมทั้งให้สร้างตลาดใหม่ที่ยังไม่มีการแข่งขันกันมากนัก เช่น การส่งเสริมในเรื่องของ SMEs ที่ประเทศไทยสามารถผลิตในต้นทุนต่ำและไม่ใช้เทคโนโลยีที่สูงมาก สามารถแข่งขันได้ โดยมีเป้าหมายผลิตสำหรับประชาชนผู้มีรายได้เข้าถึงสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพราคาไม่แพงจนเกินไปให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการเหล่านั้นเช่นเดียวกันประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศด้วย เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง