ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภายในช่วงราว 1 สัปดาห์หลังจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่หลายแห่งก็ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าทั่วไป โดยส่วนใหญ่ ได้นำร่องการปรับลดจากฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MOR และ MRR ลง 0.125 - 0.25% ขณะที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำไว้ดังเดิม
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมดังกล่าว จะส่งผลประโยชน์โดยตรงผ่านการลดต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสินเชื่อเอสเอ็มอี ทั้งประเภทสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อทั่วไป (Term Loans) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวในอัตรา 0.125 - 0.25% ต่อปี จะส่งผลดีต่อลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านราย ซึ่งทอนเป็นต้นทุนทางการเงินสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีเหล่านั้นที่ลดลงประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะที่หากรวมลูกค้าสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันบางกลุ่ม อาทิ Home for Cash ที่มักมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ผูกกับอัตราดอกเบี้ย MRR นั้น จะทำให้การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ มีผลช่วยลดต้นทุนทางการเงินกับลูกค้ารายย่อยอีกราว 6-7 พันล้านบาทต่อปี
"ดังนั้น โดยรวมแล้ว สามารถช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย รวมเป็นประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1% ของจีดีพี" บทวิเคราะห์ระบุ
ส่วนผลต่อธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบผ่านรายได้จากเงินให้กู้ยืมที่ลดลง ซึ่งจะมีผลกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ในไตรมาส 3/2562 ราว 0.06% เทียบกับระดับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ 2.86% ในไตรมาส 2/2562 (คิดผลกระทบในช่วงระยะเวลาที่เหลือของไตรมาส 3/2562 และยังไม่ได้รวมผลของปัจจัยอื่นๆ)
อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางรายได้ค่าธรรมเนียมที่เริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น อาทิ ค่านายหน้าจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันและกองทุนรวมและค่าธรรมเนียมการจัดการ ผนวกกับการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ อย่างรัดกุม คงจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวต่อความสามารถในการทำกำไรในภาพรวมลงได้ระดับหนึ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า รูปแบบการปรับอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่ยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ส่งผลบวกสุทธิต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลง แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะปรับกลยุทธ์ด้วยการลดการแข่งขันด้านราคาสำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่างๆ ลง โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ ขณะที่จะเลือกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาตรฐานลงหรือไม่ คงขึ้นกับสถานการณ์การแข่งขันและการรักษาส่วนแบ่งตลาดของธนาคารพาณิชย์ และการส่งสัญญาณถึงโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไปของ ธปท.ด้วย