ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ก.พ.) ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ยูโร และฟรังซ์สวิส หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและข้อมูลด้านการผลิตที่อ่อนแอ สอดคล้องกับที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังซบเซาลง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.4678 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับของวันพฤหัสบดี 1.4633 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ดอลลาร์อ่อนตัวลงแตะระดับ 107.69 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 107.93 เยนต่อดอลลาร์ และร่วงลงแตะระดับ 1.0925 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.0973 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9603 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับ 1.9691 ดอลลาร์ต่อปอนด์
เฟดสาขานิวยอร์กเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% โดยผลผลิตในโรงงานทรงตัว หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค. ขณะที่ผลผลิตในเหมืองแร่ซึ่งรวมถึงผลลิตน้ำมัน ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.ที่เพิ่มขึ้น 0.1% แต่ผลผลิตด้านสาธารณูปโภคทะยานขึ้น 2.2% หลังจากร่วงลง 0.2% ในเดือนม.ค.
ก่อนหน้านี้ผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก บ่งชี้ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐอาจมีการขยายตัว 0.1% ในเดือนม.ค.เพราะได้รับแรงหนุนจากผลผลิตภาคสาธารณูปโภคซึ่งมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากภูมิอากาศในสหรัฐเย็นกว่าที่คาดการณ์ไว้
ขณะที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ของสหรัฐร่วงลง 11% สู่ระดับ 69.6 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2535 ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะปรับตัวลงสู่ระดับ 77.0 จุด
นายริชาร์ด เคอร์ทิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า "ผู้บริโภคชาวอเมริกันกังวลว่าตลาดแรงงานที่ซบเซาและภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีมุมมองที่เป็นลบเกี่ยวกับภาวะตึงตัวในตลาดการเงินและตลาดสินเชื่อ"
นักลงทุนมองว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์นั้น สอดคล้องกับที่เบอร์นันเก้แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า "ภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อได้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก ขณะที่อัตราจ้างงานปรับตัวลดลงและราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้ผู้บริโภคต่างตื่นตัวเรื่องการลดการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--