นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก Krungsri SME Index ในไตรมาส 2/62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ใน 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในแดนบวกแต่ปรับลดลงมาที่ 14.30 จาก 20.23 ในไตรมาสที่แล้ว สะท้อนความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะคงยังเติบโตแม้จะอยู่ในอัตราที่ลดลง โดยในภาพรวม ผู้ประกอบการ 42% มีความกังวลด้านภาวะเศรษฐกิจ ตามด้วยการเมือง 15% และปัญหาแรงงาน 6% ขณะที่ผู้ประกอบการ 29% ระบุว่า ไม่มีความกังวล
"ผลสำรวจ Krungsri SME Index ชี้ว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการในต่างจังหวัดมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและผู้ประกอบการในกรุงเทพ และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยล่าสุด น่าจะช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ SME และส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะช่วยหนุนการเติบโตของการใช้จ่ายภายในประเทศ แม้ปัญหาภัยแล้งอาจกดดันรายได้ภาคเกษตร แต่นโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ขณะที่การปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก "มีเสถียรภาพ" สู่ "เชิงบวก" จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐอาจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง รวมทั้งความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) ซึ่งอาจส่งผลกระทบการลงทุนใหม่ของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวในไตรมาส 3 เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน แต่คาดว่าการส่งออกไทยอาจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผนวกกับผลบวกจากการทดแทนการส่งออกของสหรัฐ-จีน และผลจากการย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศไทยในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า
นอกเหนือจากนี้ กรุงศรีได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2562 ได้สอบถามเรื่องความเข้าใจของผู้ประกอบการ SME ในเรื่องการกู้ยืมระหว่างบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ (P2P lending) พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ทุกขนาดและในทุกอุตสาหกรรมจำนวน 89% ยังไม่รู้จักและขาดความเข้าใจใน P2P lending ขณะที่ผู้ประกอบการ 42% มีความสนใจในการขอกู้เงินผ่าน P2P โดยมีเหตุผลหลักคือ ต้องการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (52%) ความสะดวกสบาย เพราะสามารถทำการกู้ผ่านออนไลน์ได้ทันที (20%) และอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าเดิม (19%) ตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงความสนใจในการปล่อยกู้ผ่าน P2P ผู้ประกอบการ 73% ไม่สนใจ เนื่องจากความกังวลเรื่องความเสี่ยงสูงของผู้กู้ว่าจะเป็นหนี้เสีย (35%) และไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของระบบและข้อมูล (14%) ตามลำดับ