ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณในการดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญเพื่อดูแลประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ได้แก่ 1. การกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ควบคู่ไปกับ 2.การเตรียมกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) โดยขณะนี้ ยังคงอยู่ระหว่างรอการเปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากธปท.
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลเบื้องต้นสำหรับมาตรการส่วนแรก คือ การกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดยเป้าหมายแรกของการกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เน้นที่กลุ่มผู้กู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน นำร่องโดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคาร ซึ่งจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อก้อนใหม่ (New Booking) ให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกันระหว่างความสามารถในการชำระคืนหนี้และสถานะของรายได้ของผู้กู้กลุ่มนี้มากขึ้นในการพิจารณาอนุมัติผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยก้อนใหม่ หรือให้วงเงินเพิ่มเติมแก่ลูกค้าเดิม โดยหลังจากที่รวมภาระของสินเชื่อก้อนใหม่แล้ว สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของลูกค้ากลุ่มนี้ ไม่ควรอยู่สูงกว่าระดับ 70%
นอกจากนี้ จากข้อมูลในเบื้องต้น คาดว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สถาบันการเงินจะต้องอนุมัติอย่างระมัดระวังมากขึ้นให้กับกลุ่มผู้กู้ที่มีความเปราะบาง น่าจะอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อซึ่งมีที่อยู่อาศัย/ยานพาหนะเป็นหลักประกัน (Home for Cash/Car for Cash) และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งสร้างภาระการผ่อนชำระเป็นเวลานาน รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลที่หักงวดผ่อนชำระจากบัญชีธนาคาร และสินเชื่อสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่นๆ ขณะที่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับการดูแลจากเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV ไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงสินเชื่อซึ่งผู้กู้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ
จากการประเมินผลกระทบจากเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้กลุ่มเปราะบางของธนาคารพาณิชย์นั้น น่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 1-20% ของยอดสินเชื่อรายย่อยปล่อยใหม่รวมของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทลูกแต่ละแห่ง หากยังคงมีลักษณะการปล่อยสินเชื่อในแบบเดิมก่อนที่มาตรการมีผล ซึ่งระดับของผลกระทบจะมีความแตกต่างกันตามโครงสร้างของฐานลูกค้า และการกระจุกตัวของพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย โดยธนาคารพาณิชย์ และบริษัทลูกที่เน้นขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง และ/หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพียงบางประเภท ก็อาจต้องเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อก้อนใหม่ และเตรียมวางแนวทางและกลยุทธ์เพื่อปรับตัวในระยะข้างหน้า
ส่วนผลต่อภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากเงื่อนไขการปล่อยกู้กลุ่มเปราะบางดังกล่าวต่ออัตราการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.5% ซึ่งอาจกดดันให้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% มีโอกาสชะลอลงมาอยู่ที่ 6.0% ซึ่งเป็นกรอบล่างของช่วงประมาณการที่ 6.0-7.0%
โดยในการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าว มีสมมติฐานหลัก 2 ข้อ คือ 1. ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทลูกทยอยเริ่มเดินตามแนวทางดูแลการปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงสัดส่วน DSR ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3/2562 เป็นต้นไป และ 2. ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทลูกไม่สามารถขยายฐานลูกค้ารายย่อยไปยังกลุ่มอื่นๆ ซึ่งไม่มีปัญหาความเปราะบางทางการเงิน มีสัดส่วน DSR ไม่สูง หรือมีฐานรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือนมาทดแทนได้
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิที่ท้ายสุด ยังคงขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ชัดเจนของแนวทางจากธปท. และความยืดหยุ่นในการรับมือ/บริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูก ที่คงจะต้องมีการเพิ่มสัดส่วนน้ำหนักการปล่อยสินเชื่อไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นที่มีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ แนวทางการดูแลการปล่อยสินเชื่อในเชิงคุณภาพดังกล่าว น่าจะช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถติดตามดูแลลูกค้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งย่อมจะช่วยให้คุณภาพหนี้ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ดีขึ้น และช่วยลดแรงกดดันต่อการบริหารจัดการปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลงได้อีกทางหนึ่ง
 เมื่อมองต่อไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดจับตาที่อาจมีผลกระทบมากกว่าจะอยู่ที่มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ซึ่งขณะนี้ น่าจะอยู่ระหว่างการเตรียมกำหนดนิยาม/ประเภทของรายได้ โดยเฉพาะการคำนวณรายได้กรณีที่ผู้กู้ไม่มีรายได้ประจำ รวมไปถึงการคำนวณภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่ง สามารถประเมินข้อมูลความสามารถในการชำระหนี้และรายได้สุทธิของผู้กู้ ตลอดจนความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อบนมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ หากมาตรฐานกลางสำหรับการคำนวณสัดส่วน DSR มีความเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาสินเชื่อก้อนใหม่ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้กู้รายย่อยที่มีภาระหนี้บางส่วนอยู่ก่อนแล้วได้ในอนาคต