นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.เศรษฐกิจนัดแรกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 316,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐราว 207,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกองทุนต่าง ๆ 5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3%
สำหรับชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนประเทศ และ 3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ายังสามารถจับจ่ายใช้สอยกันได้ต่อไปตามปกติ
1.มาตรการแรก คือ การเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่ 13 จังหวัด กว่า 900,9000 ราย ซึ่งเป็นหนี้อยู่กับ ธ.ก.ส. โดยจะมีการช่วยลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 1 ปี ขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะได้รับสินเชื่อฉุกเฉิน 5 หมื่นบาทต่อราย โดยในปีแรกจะปลอดดอกเบี้ย วงเงินทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูซ่อมแซมเสียหายจากภัยแล้ง วงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท รวมวงเงิน 5,000 ล้านบาท และขยายเวลาชำระเงินกู้พิเศษทั้งหมดดำเนินการผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตข้าวนาปี 62/63 ปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกือบ 3 ล้านราย
2.มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศนั้น สนับสนุนให้ประชาชนไทยท่องเที่ยว "ชิม ช๊อป ใช้" ข้ามจังหวัด โดยให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย วางเป้าหมาย 10 ล้านคน ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสำหรับการท่องเที่ยวผ่าน e-Wallet 1,000 บาท สามารถใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นได้ทันที เพื่อใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร พักโรงแรม ต่าง ๆ จำนวน 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินคืน 15% เป็นต้น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไทย โดยเสนอการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวอินเดีย
นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับในส่วนมาตรการด้านท่องเที่ยวนั้น ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดต่อไป ส่วนข้อเสนอการขยายเวลาฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียอีกระยะหนึ่ง ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากจะต้องมีการหารือเพิ่มกับฝ่ายความมั่นคงก่อนเสนอให้ ครม.เป็นผู้พิจารณา
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเสนอให้หักค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องจักรจากการลงทุน สามารถหักภาษี 1.5 เท่า ภายใน 5 ปี และให้สินเชื่อผ่อนปรนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะเวลากู้ 7 ปี ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินรัฐ ให้เร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี กรุงไทย และออมสิน รวม 1 แสนล้านบาท และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อบ้าน 52,000 ล้านบาท และให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อโดยลดค่าธรรมเนียมให้เอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีแรก
3.ส่วนมาตรการดูแลค่าครองชีพ ผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเป็น 500 บาทต่อราย จากเดิมผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 300 บาทต่อเดือน และผู้มีรายได้ 3 หมื่นถึง 1 แสนบาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาท ต่อเดือน ขณะที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิด เพิ่มอีกเดือนละ 300 บาท โดยการช่วยเหลือเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้มีระยะเวลา 2 เดือน คือ สิงหาคมกับกันยายนนี้เท่านั้น
นายอุตตมะ ยังเปิดเผยว่า ครม. เศรษฐกิจยังเห็นชอบให้มีการพักชำระเงินต้นของกองทุนหมู่บ้านที่กู้จาก ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อคงค้าง 6.7 หมื่นล้านบาท สามารถนำเงินที่เหลือดังกล่าวมาใช้ดำเนินการปล่อยกู้ให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ รมว.คลังระบุว่า มาตรการต่างๆเหล่านี้ ได้มีการหรือกับสำนักงบประมาณมาโดยตลอด โดยคำนึงถึงวินับการเงินการคลังเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถเดินหน้าเติบโต และบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ 3%