นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้กระทรวงพลังงานเตรียมนัดประชุมร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ.ปตท. (PTT) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อหาข้อสรุปกรณีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี โดยวางเป้าหมายหลักที่ไทยจะต้องเป็นผู้นำด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค หรือการเป็น HUB ในธุรกิจ LNG เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในอนาคต ก่อนจะพิจารณารายละเอียดถึงวิธีการที่จะสามารถตอบโจทย์เป้าหมายหลักดังกล่าว รวมถึงการนำเข้า LNG ของกฟผ.ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นภายหลังการประชุมครั้งนี้
"เรื่อง LNG กฟผ. สัปดาห์นี้จะเชิญประชุมผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ผมมีเป้าหมายอย่างนี้ หลักของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจะนำเข้าหรือไม่นำเข้า แต่หลักก็คือจะหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือเราต้องมีเป้าหมายว่าเราจะเป็นผู้นำด้านพลังงานก๊าซฯของภูมิภาค คือโจทย์ที่หนึ่งเป็นโจทย์ใหญ่และจากโจทย์ใหญ่นี้จะเข้ามาดูว่าอะไรที่เป็นโครงสร้างปัจจุบันที่เรามี และจะต้องเดินต่อไปโดยวิธีอะไรถึงจะทำให้การดำเนินการของเราเป็นส่วนที่จะผลักดันให้เราขึ้นมาเป็นผู้นำด้านก๊าซฯของภูมิภาคนี่คือโจทย์หลักก่อนเป็นตัวตั้ง...ที่มีการนำเข้าเสรี เกิด Third Party ไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ทั้งหมดต้องกลับมาตอบโจทย์ของความเข้มแข็งของเรา และความเป็นผู้นำในอนาคต สัปดาห์นี้จะเชิญทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องมาประชุมผมจะนั่งเป็นประธาน"นายสนธิรัตน์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือต่างคนต่างคิด และนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซธรรมชาติ ของปตท. (Third Party Access: TPA) ดังนั้น ทุกฝ่ายควรจะถอยความเป็นองค์กรลงทั้งในส่วนของกฟผ.และปตท. เพื่อมาหารือแนวทางร่วมกันต่อไป ส่วนการนำเข้า LNG ของกฟผ.จะทันภายในปีนี้หรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ต้องนำหลักการที่ต้องการตอบโจทย์ความเป็นผู้นำของภูมิภาคให้ได้ก่อนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินการต่าง ๆ ในระยะต่อไป ซึ่งหากตอบโจทย์ดังกล่าวไม่ได้ก็ไม่ควรทำ
อนึ่ง กฟผ.ดำเนินการจัดหา LNG เพื่อนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเองในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา กฟผ. ได้คัดเลือกบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ.ปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี จากผู้ยื่นข้อเสนอแข่งขันด้านราคาจำนวน 12 ราย
ขณะที่กฟผ.มีแผนจะนำเข้า LNG ล็อตแรกในเดือนก.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าที่ชนะการประมูลได้ เพราะติดปัญหาหากเกิดกรณี Take-or-Pay ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถรับก๊าซฯได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่จะต้องชำระค่าก๊าซฯในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย เนื่องจากรัฐบาลมีความกังวลต่อปริมาณการนำเข้า LNG ในช่วงปี 62-63 ที่อาจจะมากเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ก๊าซฯที่มีอยู่จริง