(เพิ่มเติม) ธปท. เล็งปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ในก.ย. จากเดิมคาด 3.3% หลังสงครามการค้ายืดเยื้อกระทบส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2019 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในเดือนก.ย.นี้ ธปท.จะพิจารณาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 ลงอีก เนื่องจากบรรยากาศการกีดดันทางการค้าที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อกระทบต่อภาคการส่งออก จากเมื่อเดือนมิ.ย.ได้ปรับคาดการณ์ GDP ของปี 62 ลงมาที่ 3.3% จากต้นปีเดิมคาดโต 3.8%

"สถานการณ์ต่างประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากต้นปีที่คาดว่าจะโต 3.8% เมื่อมิถุนายนเราปรับประมาณการลง สาเหตุจากการส่งออกมีทิศทางชะลอลงมาก เราปรับจาก 3.8% ลงมาเหลือ 3.3% เราปรับประมาณการทุกไตรมาส ก.ย.คงปรับลงอีก เพราะบรรยากาศเรื่องการกีดกันทางการค้าดูจะรุนแรงขึ้นและไม่มีแนวโน้มที่จะจบลงได้ง่าย แตกต่างจากสมมติฐานที่เราใช้ประมาณการเมื่อตอนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่เราคาดว่าข้อตกลงทางการค้าน่าจะมีข้อสรุปได้ การส่งออกน่าจะฟื้นตัวได้ แต่ตอนนี้ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น" ผู้ว่าธปท. กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "โลกเปลี่ยน อีสานแลนหัน เท่าทันการเปลี่ยนแปลง"

สำหรับการส่งออกของไทย แม้จะติดลบ แต่ถ้าเทียบกับประเทศรอบบ้านที่ส่วนใหญ่ติดลบ 2 หลัก เช่น สิงคโปร์ -14 ถึง -15% เกาหลี ไต้หวัน ติดลบ 2 หลัก เพราะฉะนั้นการส่งออกของไทยแม้จะติดลบ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะไทยมีสินค้าส่งออกที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีการกระจายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อาเซียน CLMV ก็มีส่วนที่ทำให้การส่งออกของไทยไม่ได้หดตัวแรงเหมือนกับประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัวลง แต่ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ได้คิดว่าจะเกิดภาวะวิกฤติในช่วงใกล้ๆนี้

"สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมีความอ่อนไหวและเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก หลายอย่างที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากสงครามการค้า"ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

นายวิรไท กล่าวต่อว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง ผนวกกับสภาพคล่องในระบบการเงินโลก โดยเฉพาะช่วงหลังที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ได้กลับมาทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินโลกร่วมกันมากขึ้น เมื่อมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มาก เวลาเกิดเหตุอะไรที่ไม่คาดคิดก็กระทบอัตราแลกเปลี่ยน ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร อัตราดอกเบี้ย ทำให้ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดมากขึ้นในระยะข้างหน้า จากทั้งความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และสภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่มาก

ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงประการแรกคือ ถ้าเศรษฐกิจบ้านเราได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของอีกประเทศที่เราเปรียบเทียบ เป็นเรื่องของ Relative มากกว่า Absolute

นอกจากนี้ ไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 62 เกินดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 5-6% ของ GDP และคาดว่าสิ้นปี 62 คาดว่าน่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 28,000-29,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศรอบบ้าน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่ง ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่

"ในสถานการณ์แบบนี้ ธปท.พยายามลดแรงกระแทกต่างๆ ท่อที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในช่วงสั้นๆ ทำให้แคบลง นอกจากนี้ได้มีมาตรการออกมาสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท มาสร้างความเดือดร้อนให้กับภาคเศรษฐกิจโดยรวม จึงได้มีมาตรการต่างๆที่พร้อมเอาออกมาใช้" นายวิรไท กล่าว

รวมทั้ง อยู่ในช่วงการเปิดเสรีให้คนไทยเอาเงินออกไปนอกประเทศได้มากขึ้น ไม่ว่าการลงทุนโดยตรง เช่น ใครจะไปซื้อโรงงานในต่างประเทศก็สามารถเอาออกไปได้เท่าที่จำเป็นต้องใช้ และเราจะผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลของเงินไหลเข้าประเทศและเงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้น

ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่ความผันผวนของค่าเงินจะมีมากขึ้น และคงเป็นการยากที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงได้แนะให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น การทำ forword เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การใช้บัญชีเงินฝากเป็นเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น

"เรื่องบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เราบริหารจัดการได้เฉพาะปัจจัยในประเทศ แต่ปัจจัยต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าค่าเงินจะอ่อนหรือจะแข็ง แต่ที่แน่ๆ ความผันผวนจะสูงขึ้นแน่นอน เราดูแลได้แค่ปัจจัยในประเทศ แต่ปัจจัยต่างประเทศยังมีอีกมากที่เราไม่สามารถบริหารจัดการได้" นายวิรไทระบุ

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังย้ำถึงเหตุผลที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า กนง.ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยที่นำมาประกอบการพิจารณา คือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ, การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งกนง.เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจหลายอย่างไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐานที่คาดการณ์ไว้ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้ายังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มจะรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก การจ้างงาน และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณต้องเลื่อนไปเป็นต้นปี 63 นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง จึงไม่สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ

"ภายใต้ปัจจัยของอัตราเงินเฟ้อ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน เราต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 3 เรื่อง ประเมินสถานการณ์ด้วยการมองไปข้างหน้า ดูข้อมูลที่ลึก ละเอียด และหลากหลาย" นายวิรไทกล่าว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่าจะเติบโตได้ 3% นั้น ระดับการขยายตัวดังกล่าวไม่ถือว่าแย่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีความเข้มแข็งในหลายจุด ทั้งเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง การพึ่งพาเงินตราต่างประเทศมีน้อยมาก การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย และไม่เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบรุนแรงเหมือนเช่นในปี 2540 อีก

"โจทย์สำคัญคือ แทนที่เราจะมากังวลว่าจีดีพีปีนี้จะโต 3% หรือไม่ ปีหน้าจะโต 3% หรือไม่ ซึ่งจริงๆ 3% ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่สิ่งที่เราควรคำนึงถึงมากกว่า คือในอนาคตเราจะทำอย่างไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกข้างหน้าได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้น่ากลัว เพราะนำมาซึ่งทั้งโอกาส และความท้าทาย" นายวิรไทกล่าว

พร้อมระบุว่า ทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่า ว่าจะต้องวางแผนหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้อย่างไร ซึ่งการปฎิรูปหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น จำเป็นจะร่วมมือกันทุกภาคส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ