นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือเติบโต 2.7-3.2% จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดไว้ 3.3-3.8% หลังครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะลดลง -1.2% จากคาด 2.2% มูลค่านำเข้า -1.6% จากเดิมคาด 3.5% การลงทุนรวมขยายตัว 3.8% จากคาด 4.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7 –1.2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.9% ของ GDP
ส่วนปีหน้าสภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0% หรือค่ากลางที่ 3.5%
นายทศพร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/62 ขยายตัว 2.3% เป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ทั้งนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำสุดในปีนี้แล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากผลของการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 2.7-3.2% หรือเฉลี่ยที่ 3% ขณะที่ปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4%
"เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาเป็นแพ็คเกจในด้านต่างๆ ทั้งด้านการคลัง การท่องเที่ยว การลงทุน...เราเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาคำนวณแล้ว ถ้าไม่ทำ ประมาณการณ์ที่ตั้งไว้ก็อาจจะไม่ถึง" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงถึง 4.4% จากผลของอัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.2% และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของภาครัฐ ขยายตัว 1.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วในไตรมาสก่อนหน้า
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับปรับลดสมมติฐานต่างๆ ในปีนี้ลงจากเดิม ประกอบด้วย 1. การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 3.3% จากเดิม 3.6% 2.อัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าทั้งปีเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ในกรอบ 30.70-31.70 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 31.10-32.10 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้มากขึ้นเป็น 2-3 ครั้ง จากเดิมคาดไว้ 1-2 ครั้ง 3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าลดลงเหลือ 59-69 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมคาด 62-72 ดอลลาร์/บาร์เรล 4. รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะลดลงเหลือ 2.04 ล้านล้านบาท จากเดิม 2.21 ล้านล้านบาท
"การปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมา มีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกลดลงจาก สงครามการค้ายังไม่ยุติ และอาจจะมีคู่ขัดแย้งใหม่เข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ธนาคารกลางหลายประเทศยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อดูแลค่าเงินของตัวเองให้อ่อนค่าตามทิศทางค่าเงินหยวน ซึ่งกระทบต่อตลาดเงินให้ผันผวน และไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก แม้ตลาดหุ้นไทยจะกลับมารีบาวน์ได้เมื่อวันศุกร์" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ราว 3% มาจาก 1.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวตามฐานรายได้ครัวเรือน และมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ 2. การปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออก โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น 3. การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของภาครัฐหลังจากมีรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณ การขับเคลื่อนการลงทุน การดูแลภาคการเกษตร และการแก้ปัญหาภาคการส่งออก เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยที่ไม่อาจจะวางใจได้ ประกอบด้วย 1. ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ, ยูโรโซน, จีน และญี่ปุ่น 2. ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ตลอดจนความเสี่ยงจากกรณีที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินและการลดค่าเงินของประเทศสำคัญต่างๆ และ 3. ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง
ทั้งนี้ การบริหารเศรษฐกิจในปี 62 นั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ขับเคลื่อนการส่งออกให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% 2. สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้จำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน 3. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 4. การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน 5. ดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งเศรษฐกิจฐานราก และ 6. การรักษาความสงบเรียบร้อย และบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่มีความสมดุล