ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฮ่องกง ได้แสดงความคิดเห็นว่า การที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง กำลังทำให้ประเทศอื่นๆในเอเชียควบคุมเงินเฟ้อได้ยากขึ้น ซึ่งแทนที่ประเทศในเอเชียจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศหรือปล่อยให้ค่าเงินแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศเหล่านี้ อาทิ จีน กลับต้องควบคุมราคาเนื้อและไข่ และทำให้มาเลเซียต้องควบคุมคลังสำรองน้ำมันปรุงอาหาร ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ต้องจ่ายเงินชดเชยด้านสาธารณูปโภคให้กับประชาชน
"มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบรุนแรง การควบคุมราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆที่ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงนั้น จะทำให้การควบคุมเงินเฟ้อทั่วโลกเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ฟิทช์มองว่า การควบคุมราคาสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ผลหากไม่มีการสร้างสมดุลอุปสงค์และอุปทาน" เจมส์ แม็ คคอร์แมค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตโซนเอเซียของฟิทช์ เรทติ้งส์ ฮ่องกงกล่าว
ในประเทศจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุหิมะหนักสุดในรอบ 50 ปีนั้น พยายามควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเหนือเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในอินเดียพุ่งขึ้นเหนือระดับ 20% ในเดือนม.ค. ส่วนเงินเฟ้อในสิงคโปร์ก็พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
"การที่เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสิ้น 2.25% นับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว จนแตะที่ระดับ 3% นั้น กำลังส่งผลกระทบต่อการควบคุมเงินเฟ้อของเอเชีย ช่องว่างของต้นทุนการกู้ยืมที่ห่างกันมากระหว่างสหรัฐและเอเชียนั้นกำลังดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติให้ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ธนาคารกลางหลายแห่ง อาทิ จีนและอินเดีย ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ" แม็คคอร์แมคกล่าว เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--