พาณิชย์เตรียมเป็นเจ้าภาพประชุม AEM และ RCEP พร้อมนำ รมต.ศก.อาเซียนลงนามข้อตกลงสำคัญ 2 ฉบับ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2019 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) ครั้งที่ 51 การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ครั้งที่ 7 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 3-10 ก.ย.62 ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้งอาเซียนและอาร์เซ็ป

นางอรมน กล่าวว่า การประชุม AEM และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่สำคัญมาก โดยจะมีการประชุมที่สำคัญ 4 การประชุม ดังนี้ 1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting :SEOM) ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.62 เพื่อเตรียมการก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งตนจะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

2. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.62 ซึ่งรัฐมนตรีอาเซียน 10 ประเทศ จะร่วมกันหารือสรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนนับตั้งแต่ไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ

3. การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป 16 ประเทศ ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ย.62 เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา RCEP และปลดล็อคประเด็นติดขัดที่ยังเหลืออยู่ เพื่อกรุยทางให้ผู้นำประกาศสรุปผลการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ปในเดือน พ.ย.นี้

และ 4. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าอาเซียน 10 ประเทศ กับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา และรัสเซีย (แบบแยกรายประเทศ) ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2562 ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ และเตรียมการก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำของคู่เจรจา 10 ประเทศ ในเดือน พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ

นางอรมน เสริมว่า ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมกันลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะถ้ายานยนต์และชิ้นส่วนผ่านการตรวจสอบรับรองของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งแล้ว เมื่อส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ เพราะถือว่าได้ยอมรับผลการตรวจสอบนั้นแล้ว

2) พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับอาเซียนหากมีปัญหาหรือข้อพิพาทระหว่างอาเซียน เนื่องจากการใช้มาตรการทางการค้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาเซียนก็จะมีกลไกการหารือแก้ไขข้อพิพาทกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งการตัดสินขององค์กรนอกอาเซียน

"ทั้ง 2 เรื่องนี้ ถือเป็นความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาเซียนใช้เวลาเจรจาหาข้อสรุปกันอยู่นานเกือบ 10 ปี ซึ่งสำเร็จได้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุ

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความสำเร็จการทำงานของเสาเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 62 ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ เตรียมรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มีหลายเรื่อง เช่น (1) การจัดทำระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) โดยดำเนินการสำเร็จแล้ว และพร้อมใช้ระบบนี้ในเดือน มี.ค.63 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีของอาเซียนด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

(2) การจัดทำระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ (ASEAN Single Window: ASW) ใกล้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และกัมพูชา ได้เชื่อมต่อระบบและแลกเปลี่ยน Form D ทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังเหลือสมาชิกอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เมียนมา และ สปป.ลาว ที่อยู่ระหว่างทดสอบระบบ ซึ่งมีความคืบหน้ามากและพร้อมดำเนินการให้สำเร็จ เชื่อมต่อระบบให้ครบ 10 ประเทศ ภายในปีนี้ หากระบบ ASW สมบูรณ์ จะสามารถยื่น Form D ผ่านระบบออนไลน์และหน่วยงานของรัฐที่ด่านพรมแดน สามารถตรวจเช็คเอกสาร และปล่อยสินค้าได้อย่างรวดเร็ว

(3) การตัดสินใจทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 8 ปี ให้ทันสมัยสามารถรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบันและลดอุปสรรคทางการค้า เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยในภาพรวมอีกด้วย

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 53,557 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 31,316 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 22,240 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 9,076 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 25.47% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ