นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า กยท.เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยาง เรื่อง เทคโนโลยีการทำน้ำยางข้นครีมและการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (Workshop on Transfer of Technology on Rubber Technology in Thailand "The Technology on Creaming Latex Processes and Rubber Products") ของกลุ่มประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Development Board) หรือ IRRDB ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.62 ณ กรุงเทพฯ และ จ.ระยอง
ผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย หน่วยงาน/ผู้แทนที่รับผิดชอบด้านการผลิต การใช้และอุตสาหกรรมยาง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน จาก 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า และศรีลังกา เป็นต้น เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมสัมมนาเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตยาง อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ตลอดจนนโยบายของประเทศสมาชิก IRRDB ซึ่งแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายหลักในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตน้ำยางของเกษตรกร รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์จากน้ำยางข้นครีมเพื่อนำไปสู่การใช้ยางเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้ให้ความสำคัญในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพาราในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถผลิตยางให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐาน GMP/ GAP/ISO เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถผลักดันสู่การใช้ในอุตสาหกรรมล้อยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นโยบายจากภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการใช้ยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการให้การช่วยเหลือเกษตรกร และสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย หรือองค์กรขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางนั้นมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตยาง และเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ
สำหรับการสัมมนาฯ การทำน้ำยางข้นครีม จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ปฏิบัติได้ง่าย การลงทุนต่ำ และเหมาะกับเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ทำเองได้ ซึ่งเป็นเทคนิคการแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นโดยไม่ใช้เครื่องปั่นน้ำยาง รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์จากน้ำยางข้นครีม
"แนวทางในการที่จะให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางในประเทศสมาชิกสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง นอกเหนือจากการจัดการสวนยางที่ดี ควรให้การสนับสนุนความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต พัฒนานวัตกรรมการแปรรูป เพิ่มมูลค่า สร้างตลาดใหม่ๆ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเกิดรายได้ที่มั่นคง และมีความยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยาง" นางณพรัตน์ กล่าว