นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวี ไดเร็ค (TVD) ในฐานะนายกสมาคมทีวีโฮมช็อปปิ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในปี 61 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 13,823 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 15.5% ปัจจัยมาจากมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด อาทิ Workpoint, Amarin และผู้ประกอบการทีวีช่องอื่นๆ เริ่มเข้ามาทำธุรกิจทางด้านนี้ สะท้อนว่าธุรกิจทีวีช้อปปิ้งยังมีอนาคตที่ดีและมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น รวมถึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ชในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากจับกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น อายุ พื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.62) มีอัตราการเติบโตชะลอลง โดยมีมูลค่าตลาดรวม 7,351 ล้านบาท เติบโต 12.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นธุรกิจ ‘ทีวีช้อปปิ้ง’ อยู่ที่ 4,243 ล้านบาท เติบโตประมาณ 8% และธุรกิจ ‘โฮมช้อปปิ้ง’ มีมูลค่าตลาด 3,107 ล้านบาท เติบโตประมาณ 14% ปัจจัยที่ตลาดเติบโตชะลอตัวมาจากภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปีนี้มีอัตราเติบโตลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้า
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ (ก.ค.-ธ.ค.62) สมาคมฯ คาดการณ์จะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 6,983 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยลบภายในและภายนอก ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคน่าจะยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องทยอยคืนช่องแก่ กสทช.
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีครัวเรือนที่ติดตั้งอุปกรณ์รับชมรายการโทรทัศน์ทั้งสิ้นประมาณ 21.71 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98.1% จากทั้งหมด 22.13 ล้านครัวเรือน ขณะที่ ‘ทีวีดาวเทียม’ เป็นช่องทางรับชมที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการรับชมอยู่ที่ 53.26% เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 50.7% ขณะที่การรับชมทีวีดิจิทัลและเคเบิ้ลทีวีมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย
ปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าทางทีวีช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้งมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นการผสมผสานกับระหว่าง Shopping Experience และ Shopping Journey ต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็วและตรงกับความต้องการ เนื่องจากผู้บริโภคได้ยกระดับสู่การเป็น Prosumer (Professional+Consumer) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น จึงมีการศึกษาข้อมูลสินค้า เปรียบเทียบราคาและโปรโมชั่น และต้องการเลือกซื้อสินค้าในช่องทางที่ได้ราคาที่ดีที่สุด
ขณะที่การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ช และโซเชียล คอมเมิร์ช มองว่าเป็นผลบวกให้กับทีวีโฮมช้อปปิ้ง เพราะถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้เจอ (White Space) โดยธุรกิจทีวีช้อปปิ้งมีฐานลูกค้าใหญ่คือ กลุ่ม Baby Boomer ที่เกิดในปี 2489-2507 และ Gen X ที่เกิดในปี 2508-2522 ซึ่งยังมีพฤติกรรมรับชมทีวีเป็นสื่อหลัก และกำลังปรับตัวเข้าสู่การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ช และโซเชียล คอมเมิร์ช ส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีกแบบไม่มีหน้าร้าน เนื่องจากผู้บริโภคกล้าทดลองสั่งซื้อโดยไม่ได้สัมผัสสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีช้อปปิ้งมีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจทีวีช้อปปิ้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ เช่น สคบ. กสทช. ฯลฯ ส่งผลให้ไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณสินค้าเกินจริง ก็มีผลดีต่อความมั่นใจของผู้บริโภคต่อการเลือกซื้อสินค้าผ่านทีวีช้อปปิ้ง
ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินภาพรวมเทรนด์สินค้าซึ่งจะเป็นที่ต้องการในอนาคต ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้านวัตกรรมที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของประเทศไทยจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (อีโค่ โปรดักต์) ที่คาดว่าจะมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น รวมถึงกลุ่มสินค้าด้านอาหารที่กำลังเติบโตพร้อมกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการด้านโลจิสติกส์