แหล่งข่าว เผยเอกชนยื่นประมูลงานโซลาร์ลอยน้ำ กฟผ. 22 ราย คาดรู้ผลผู้ชนะใน 2-3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2019 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลงานประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid) ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ในวันนี้มีผู้มายื่นประมูลทั้งสิ้น 22 ราย จากผู้ที่เข้าซื้อซองประมูลงานกว่า 100 ราย นับว่าได้รับความสนใจจากเอกชนค่อนข้างมาก

หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิค และนำเสนอรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาต่อคณะกรรมการ กฟผ.เพื่ออนุมัติการเปิดซองราคาต่อไป หลังจากนั้นเมื่อได้ผู้ชนะเสนอราคาแล้วก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฟผ.เพื่อพิจารณาก่อนจะประกาศผล คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนหลังจากนี้

ทั้งนี้ ตามแผนเดิมกำหนดจะลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลงานในช่วงต้นปี 63 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน เพื่อให้ทันแก่การผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินเดือน ธ.ค.63

อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร นับเป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่กฟผ. ยังเตรียมดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีกหลายแห่ง รวมกำลังผลิต ทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018)

สำหรับโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำบนพื้นที่ผิวน้ำเนื้อที่ 450 ไร่ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass ซึ่งเหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการน้ำทั้งเวลากลางวันและกลางคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ช่วงกลางคืน

ในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกันเพื่อให้ระบบมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น และนำระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมของ กฟผ. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีราคาต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุแบบเดียวกับท่อประปาจึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บริเวณพื้นน้ำของเขื่อน กฟผ. จึงไม่กระทบกับพื้นที่การเกษตร และเส้นทางเดินเรือของชุมชน

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า บริษัทจะจับมือกับพันธมิตร เพื่อเข้าร่วมประมูลงานโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธรในครั้งนี้ด้วย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศอีกหลายรายที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล รวมถึงบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่ระบุว่ามีผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมประมูลงานโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร เข้ามาเจรจาเพื่อขอราคาผลิตภัณฑ์ HDPE จากบริษัทเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ