นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวได้ 3% (กรอบ 2.8-3.2%) ชะลอตัวลงจากปี 61 ที่ขยายตัวได้ 4.1% จากปัจจัยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวลง -0.9% (กรอบ -1.1 ถึง -0.7%)
อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VOA) สำหรับการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงจากผลกระทบที่ส่งผลจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตร ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการสวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียภาพเศรษฐกิจในประเทศนั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ จะอยู่ที่ 1% (กรอบ 0.8-1.2%) ลดลงจากปีก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง ขณะที่เสถียภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 33.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6.1% ของ GDP
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง กระทรวงการคลังได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมา จึงได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 62 และรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง และเกษตรกรรายย่อย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันนี้แล้ว คาดว่าจะมีเม็ดเงินพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันทีในเดือน ส.ค.