ก.เกษตรฯ เตรียมเปิดมหกรรมสินค้าสหกรณ์ทั่วไทย รุกขยายช่องทางการตลาดตรงถึงผู้บริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2019 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำหนดจัดงานมหกรรมสินค้าสหกรณ์ ปี 2562 ขึ้น ภายใต้ชื่องาน "Fresh From Farm เนื้อ นม ไข่ ผักผลไม้ พรีเมี่ยม By CO-OP" ทั่วประเทศระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2562 ส่วนกลางจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พระราม 3 ระหว่างวันที่ 23 -25 สิงหาคม นี้ และจะกระจายไปอีก 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พะเยา พิษณุโลก เชียงราย เพชรบูรณ์ อุทัยธานี บุรีรัมย์ หนองคาย มหาสารคาม มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร กาฬสินธุ์ ราชบุรี และยะลา ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อ นม และไข่ ที่จะได้นำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สหกรณ์ได้ผลิตขึ้น และผ่านกระบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐานแล้ว มาจัดแสดงและจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งภายในงานนี้ ยังมีเวทีสำหรับการเจรจาธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับภาคเอกชน เพื่อให้สหกรณ์ได้เรียนรู้ถึงทิศทางของตลาดสินค้าและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อจะได้นำกลับไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าของสหกรณ์ได้สอดคล้องกับที่ตลาดต้องการ

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มุ่งหวังที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้าของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายช่องทางการตลาดให้ถึงมือผู้บริโภค และใช้กลไกระบบสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกรทำหน้าที่ในการส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ การรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาสู่กระบวนการแปรรูปและเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อจัดหาตลาดในการจำหน่ายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันสหกรณ์ภาคการเกษตรมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภค ทั้งกลุ่มสินค้าด้านพืช เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ นม ไข่ไก่ และสินค้าแปรรูปต่าง ๆ เช่น กาแฟ อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งสหกรณ์ได้ส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือในการผลิตจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าสหกรณ์ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อพัฒนาให้สินค้าสหกรณ์มีความปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสินค้า โดยกระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง มีช่องทางการตลาดรองรับสินค้าสหกรณ์ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อกับเกษตรกรได้โดยตรง เพื่อสนับสนุนให้เกษตรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือได้ และกลับมาดูแลพัฒนาสหกรณ์ร่วมกันต่อไป

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์สามารถผลิตสินค้าแปรรูปได้หลากหลายชนิด สร้างการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรมฯ ได้เข้าไปพัฒนาและต่อยอดการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์ โดยเฉพาะในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้จัดสรรเงินอุดหนุนงบกลางปีจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน ให้สหกรณ์นำไปจัดซื้ออุปกรณ์แปรรูปผลผลิต และร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันอาหารแห่งชาติ นำความรู้จากงานวิจัยและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์สินค้าของสหกรณ์ให้ได้คุณภาพ มีความโดดเด่น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับราคาสินค้าของสหกรณ์ให้เพิ่มสูงขึ้น

โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ เป็นสินค้าที่ยังมีโอกาสเติบโตและช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับสหกรณ์ เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการ ทั้งเนื้อโคขุน ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์นม อีกจำนวนมาก ทำให้แต่ละปีสหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ มีมูลค่าสูงถึง 7,729 ล้านบาท

ส่วนสหกรณ์โคนมมีจำนวน 99 แห่ง รวบรวมนม 2,000 ตัน/วัน คิดเป็น 57.38 % ของปริมาณนมโคทั้งระบบ (3,413 ตัน/วัน) เป็นน้ำนมโคแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ สหกรณ์มีโรงงานแปรรูปนมที่ได้มาตรฐาน HACCP GMP ISO และฮาลาล ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปนมของสหกรณ์มีหลากหลาย ทั้งนมพาสเจอร์ไรส์ นม UHT โยเกิร์ต ไอศกรีม นมอัดเม็ด และส่งจำหน่ายไปยังห้างโมเดิร์นเทรด ได้แก่ ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต, เทสโก้โลตัส, บิ๊กซี, แม็คโคร, แฟมิลี่มาร์ท, แม็กซ์เวลู และเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นต้น และมีสหกรณ์ 2 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ส่งนม UHT ไปประเทศกัมพูชาและจีน ปีละกว่า 31 ล้านบาท และสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ได้ส่งผลิตภัณฑ์นม UHT ผ่านบริษัทผู้ส่งออก ไปยังประเทศลาว พม่าและกัมพูชา

ขณะที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อมีทั้งหมด 75 แห่ง ในพื้นที่ 37 จังหวัด จำนวนสมาชิกประมาณ 13,500 ราย จำนวนโค 120,000 ตัว คิดเป็นปริมาณ 57% ของภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งมีหลายสหกรณ์ได้ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคขุนให้กับเกษตรกร และเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพด้านการผลิตเนื้อโคขุนที่มีคุณภาพ

สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่มี 5 แห่ง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี อ่างทอง เชียงใหม่ และหนองคาย ซึ่งไข่ไก่มาจากฟาร์มสมาชิกสหกรณ์ ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP และได้รับการรับรองสถานที่จำหน่ายไข่สดปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค "ปศุสัตว์ OK ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค" จากกรมปศุสัตว์แล้วทุกแห่ง โดยสหกรณ์รวบรวมไข่ไก่สดจากสมาชิก และส่งจำหน่ายผ่านร้านค้าของสหกรณ์ ตลาดนัดชุมชน ศูนย์ราชการ โรงพยาบาล ร้านอาหาร รวมถึงห้างโมเดิร์นเทรดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ