ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงเล็กน้อยจากเดิมคาดขยายตัว 3.1% เหลือขยายตัว 3.0% โดยเป็นผลจากสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ท่องเที่ยว และการจ้างงานในประเทศ รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้ง
อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยอีไอซีประเมินว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ 0.3% ขณะที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยที่ 3.2% แต่อาจชะลอเหลือโตเพียง 2.7% ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 62 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำเป็นหลัก โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่อง ตามภาคส่งออกที่ยังเป็นปัจจัยกดดัน รวมถึงภาคเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาคส่งออก อย่างไรก็ดี หากพิจารณาด้านอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.4% ซึ่งสูงกว่าครึ่งปีแรกจากปัจจัยฐานต่ำของปีก่อนที่เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากประมาณการรอบล่าสุดของอีไอซีเมื่อเดือน ก.ค. ภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการทั้งด้านบวกและลบ ดังนี้
ปัจจัยลบ
1. ผลกระทบภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาด ทำให้ส่งผลลบต่อการผลิตภาคเกษตร โดยคาดความเสียหายราว 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.16% ของ GDP
2. ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่สหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเพิ่มเติมในอัตรา 10% ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลด้านลบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ประกอบกับค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ก็มีแนวโน้มทำให้ภาคส่งออกของไทยหดตัวเพิ่มเติมจากที่เคยคาดไว้ที่ -1.6% เป็น -2.0%
3. ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาด แต่จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีน-ฮ่องกง จีน-ไต้หวัน และเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น อาจทำให้ไทยได้รับอานิสงส์บางส่วนด้านการท่องเที่ยว โดยมีความเป็นไปได้ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้นเนื่องจากต้องการหลบเลี่ยงความขัดแย้ง ดังนั้นแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่าที่เคยคาด แต่ก็จะไม่ลดลงมากนัก โดยปรับคาดการณ์เหลือ 40.0 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ที่ 40.1 ล้านคน
ปัจจัยบวก
1. การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเมื่อเมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และอีไอซียังคาดว่า กนง.มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเช่นกัน ดังนั้นเศรษฐกิจก็จะได้รับผลดีจากภาวะต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนได้ส่วนหนึ่ง
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาสูงกว่าที่เคยคาด โดยคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.3%
"ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านบวกและลบข้างต้น อีไอซีประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0% โดยจากปัจจัยลบข้างต้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% อย่างไรก็ดี เมื่อรวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0%" บทวิเคราะห์ระบุ
สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.62 ที่ขยายตัว 4.3% แต่หากหักทองคำจะหดตัวที่ -0.4% นับเป็นการหดตัวน้อยลงจากช่วงครึ่งปีแรก สอดคล้องกับที่อีไอซีคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังปีนี้ อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำของปีก่อนเป็นสำคัญ โดยอีไอซีประเมินว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2019 จะหดตัวที่ -2.0%
ทั้งนี้ การส่งออกไทยในหลายตลาดสำคัญพลิกกลับมาขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 9.8% หลังหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -2.1% มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวคือผลิตภัณฑ์ยาง (27.9%) เครื่องนุ่งห่ม (12.2%) และรถยนต์และส่วนประกอบ (21.0%) ด้านการส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 8.0% ได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ (11.5%) ไก่แปรรูป (9.2%) และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (40.1%) ขณะที่การส่งออกไปจีนที่ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือนที่ 6.2% ได้รับผลดีจากการส่งออกผลไม้สด-แช่เย็น-แช่แข็งและแห้ง (117.3%) รถยนต์และส่วนประกอบ (79.4%) และยางพารา (13.4%)
อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะมีทิศทางซบเซาต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเทียบปีต่อปี จะได้รับอานิสงค์จากปัจจัยฐานต่ำ ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 62 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวเป็นสำคัญ โดยอาจมีความเสียหายสูงสุดประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทหรือราว 0.16% ของ GDP ทั้งนี้ ผลผลิตเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุดคือ ผลผลิตข้าว โดยผลผลิตเกษตรประเภทอื่น ๆ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในระดับที่ไม่น่ากังวล เริ่มจากมันสำปะหลังที่เป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อยในการเจริญเติบโต จึงไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก ด้านอ้อยก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักในแง่ของผลผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบบ้างในด้านคุณภาพความหวานของอ้อยที่จะลดลงเนื่องจากอากาศแล้ง ขณะที่ยางพารา แม้ว่าจะได้รับผลกระทบในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ผลผลิตส่วนมากอยู่ในภาคใต้ซึ่งไม่ได้เกิดภัยแล้ง จึงไม่น่ากังวล ดังนั้นผลผลิตเกษตรสำคัญที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญก็คือ การปลูกข้าว
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น อีไอซีประเมินว่า ผลต่อเศรษฐกิจจะมีจำกัด เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสินเชื่อ โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค.62 ครม.ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท อีไอซีประเมินว่ามาตรการประเภทเงินโอนที่ให้กับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้เงินเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายประเภทสินเชื่อ soft loan ที่มีประมาณ 2 ใน 3 ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสินเชื่อที่จะมีการจัดทำอยู่แล้วแม้ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับสินเชื่อที่ได้ไปอาจจะเป็นการ refinance ซึ่งทำให้เกิดการใช้จ่ายหรือลงทุนใหม่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ มาตรการสินเชื่อยังอาจมีข้อจำกัดจากนโยบายอื่น เช่น มาตรการ LTV ที่ทำให้มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจจะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ขณะที่มาตรการที่อยู่ในรูปแบบเงินโอนนั้น มีแนวโน้มเพิ่มการใช้จ่ายใหม่ได้ดีกว่า เพราะเป็นการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยตรง ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มเติมได้อีก 0.3%
อีไอซี ยังประเมินด้วยว่า เศรษฐกิจไทยปี 63 มีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อย ตามการส่งออกที่คาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวจากปัจจัยฐานต่ำในปี 62 โดยแม้ว่าการส่งออกยังได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าต่อเนื่อง แต่ฐานที่ต่ำในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปี 63
ทั้งนี้ หากสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐโดนเก็บภาษีที่ 10% อีไอซีประเมินว่า มูลค่าการส่งออกในปี 63 จะขยายตัวที่ 1.2% และ GDP จะขยายตัวได้ที่ 3.2% แต่หากภาวะสงครามการค้าปรับตัวแย่ลง โดยสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นบนสินค้านำเข้าจากจีน ก็อาจทำให้ GDP ไทยปี 63 ชะลอลงมากเหลือโตเพียง 2.7%
สำหรับเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐ เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนสำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 63 โดยอีไอซีคาดว่าในปีหน้า การลงทุนภาครัฐด้านการก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ประมาณ 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ รถไฟทางคู่ มอร์เตอร์เวย์ และรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่องจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 62 ของ กนง. ก็จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในปีหน้าให้สามารถขยายตัวเร่งขึ้นมากกว่าปีนี้เล็กน้อย
ขณะที่ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะมีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากภาวะการจ้างงานและรายได้ของแรงงานมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ซบเซาต่อเนื่อง รวมถึงเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้
อย่างไรก็ดี อีไอซีจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 อย่างละเอียดในช่วงเดือน ต.ค.นี้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยปี 63 ยังคงเป็นประเด็นเรื่องสงครามการค้า โดยปีหน้าจะเป็นช่วงที่สหรัฐฯ มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (จะรู้ผลในเดือนพ.ย.63) ซึ่งนโยบายกำแพงภาษีที่มีต่อประเทศคู่ค้าหลัก น่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ในช่วงระหว่างหาเสียง นั่นหมายถึงความผันผวนจากสงครามการค้าน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงปี 63
นอกจากนี้ ทั้งจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ยังอาจใช้มาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากมาตรการทางภาษีเพื่อทำการตอบโต้ระหว่างกัน เช่น มาตรการค่าเงิน หรือการใช้กฎระเบียบเพื่อสร้างอุปสรรคต่อการค้าขาย เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของโลกในภาพรวมเช่นเดียวกัน
ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ ก็ยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการบริหารของรัฐบาลที่การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ประกอบกับการที่จำนวนที่นั่งในสภาของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมาก ก็จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย
ทั้งนี้ ภาครัฐยังมีความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ในปี 63 โดยจากตัวเลขล่าสุดของการจัดทำงบประมาณปี 63 ที่มีการนำเสนอ ครม. เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีรายจ่ายรวมที่ 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่าเพดานหนี้ในการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของภาครัฐมีมากถึงราว 7.1 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าภาครัฐยังมีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมากพอสมควรราว 2.4 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.5% ของ GDP)
"มาตรการที่อาจมีการจัดทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมวดสำคัญ คือ 1.มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 2.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 3.มาตรการช่วยเหลือ SMEs 4.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และ 5.มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ หากภาครัฐมีการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 63 ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าที่คาด" บทวิเคราะห์ระบุ