นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน กล่าวว่า ธนาคารฯ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ลงมาที่ 3% จาก 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีแรกเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้
พร้อมระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณจะใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องหนี้สินครัวเรือน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยยอดขายรถยนต์น่าจะได้รับผลกระทบ ประกอบกับในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 น่าจะล่าช้าออกไปเป็นเดือนมกราคมปีหน้าจากเดิมที่น่าจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมปีนี้ 2 ปัจจัยนี้อาจจะเป็นปัจจัยด้านลบต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
"แม้ว่าเราปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 แต่เรายังคาดว่าในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรกการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. น่าจะเป็นสัญญาณช่วยที่ดีประกอบกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายการคลังที่น่าจะส่งผลให้เห็นภาพเศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 นี้ นอกจากนี้ ฐานการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อนน่าจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ดีขึ้น"นายทิม กล่าว
นอกจากนี้ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังคงส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการลงทุน ดังนั้นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจึงปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2563 ลงมาที่ 3.5% (จากเดิม 4.0%) และในปี 2564 จะอยู่ที่ 4.0% (จากเดิม 4.5%) เพื่อสะท้อนภาพปัจจัยที่ต้องจับตามอง
นายทิม กล่าวอีกว่า ธนาคารฯ คาดว่าธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนกันยายน 0.25% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกมีทิศทางผ่อนคลายมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังนั้นจึงได้ปรับประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 1.25% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.50% โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายในปี 2563 และ 2564