โพล เผยภาคอุตสาหกรรมหวังรบ.ใหม่ทำงานร่วมภาคเอกชนมากขึ้น เดินหน้าแก้ปัญหาให้ปชช.มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2019 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ "สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง "ความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลใหม่" โดยสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมอยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันมากที่สุด พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 51.65% ระบุว่า อยากให้รัฐบาลทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้นผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) รองลงมา 50.18% ระบุว่าปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรม, 42.49% ระบุว่า ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมในภาคการเกษตร (Smart Agro), 39.56% ระบุว่า สนับสนุนโครงการ Made In Thailand เป็นวาระแห่งชาติ, 38.83% ระบุว่า ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill), 33.33% ระบุว่า เร่งดำเนินการความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of Doing Business, 32.60% ระบุว่า ส่งเสริมการตลาดยุคออนไลน์ และ 7.69% ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนการตลาด การส่งออก ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมด้านเงินทุนให้ธุรกิจ SMEs กระตุ้นธุรกิจยานยนต์และมีการดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศมากขึ้น การเจรจาติดต่อกับต่างประเทศ เร่งปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ลดอัตราภาษีเกี่ยวกับการส่งออก และสนับสนุนเกษตรอุตสาหกรรม

ส่วนความคาดหวังในด้านต่างๆ ได้แก่ "ด้านเศรษฐกิจในประเทศ" ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ 68.86% ระบุว่า เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมา 58.61% ระบุว่า แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เพิ่มรายได้ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ, 43.22% ระบุว่า สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ, 42.12% ระบุว่า มีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือ SMEs, 33.70% ระบุว่า เร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ EEC, 27.11% ระบุว่า ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว, 23.44% ระบุว่า เร่งรัดการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ 1.83% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เพิ่มการจัดซื้อของภาครัฐในกุล่ม การผลิตภายในประเทศเนื่องจากมีผลต่อการจ้างงาน และการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ วางแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในระยะยาว ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSP) สามารถเป็นอุตสหกรรมหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศเหมือนกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม หรีอ Spa ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร

"ด้านการส่งออก" ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ 49.45% ระบุว่า ขยายการส่งออกสู่กลุ่มตลาดใหม่ รักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดหลักและตลาดรอง รองลงมา 44.32% ระบุว่า ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน, 37.36% ระบุว่า เจรจาลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB), 37.00% ระบุว่า ใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ, 34.07% ระบุว่า มีมาตรการลดผลกระทบจากสงครามการค้า, 32.97% ระบุว่า เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับกลุ่มประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้า และ 11.72% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีมาตรการควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า มีกลยุทธ์ทางการค้าที่ชัดเจน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร

"ด้านอุตสาหกรรม" ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ 60.07% ระบุว่า สร้างโอกาส สร้างตลาดให้กับสินค้าอุตสาหกรรมไทยมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รองลงมา 47.62% ระบุว่า ยกระดับสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล, 46.15% ระบุว่า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น, 45.42% ระบุว่า มีมาตรการด้านการเงินเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้, 45.05% ระบุว่า เสริมสร้างขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ, 34.43% ระบุว่า ส่งเสริมจัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วย SMEs, 32.60% ระบุว่า ปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม, 28.57% ระบุว่า ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านแดนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และ 1.10% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Logistics Hub อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานให้รองรับกับการยกระดับอุตสาหกรรม และปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในเมืองรอง ระหว่างเมืองระหว่างชุมชนกับแหล่งอุตสาหกรรม

"ด้านเกษตรกรรม" ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ 58.97% ระบุว่า แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รองลงมา 52.75% ระบุว่า มีแหล่งหรือตลาดที่แน่นอนในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร, 51.65% ระบุว่า ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ, 39.56% ระบุว่า เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น, 38.10% ระบุว่า เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และ 1.83% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เลิกการใช้ยาฆ่าแมลง และแก้ปัญหาเรื่องคนกลางที่มีอำนาจเหนือเกษตรกร ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร

"ด้านกฎหมาย" ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ 73.63% ระบุว่า ปรับปรุงกฎหมายให้มีความ ทันยุคทันสมัยเพื่ออำนวยสะดวกและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ (Regulatory Guillotine) รองลงมา 63.37% ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ, 52.01% ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง, 38.10% ระบุว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายมากขึ้น และ 1.10% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ลดกฎหมายที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น แก้ไขกฎหมายแรงงาน แรงงาน ต่างด้าวให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ของ SMEs และส่งเสริมการลงทุน BOI

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นประเทศไทยเป็นมากที่สุด พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 58.61% ระบุว่า ประเทศสงบสุขและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมา 57.51% ระบุว่า การศึกษาที่มีคุณภาพ, 56.41% ระบุว่า ประเทศที่ปราศจากการคอร์รัปชัน/เส้นสาย/ระบบอุปถัมภ์, 46.89% ระบุว่า ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม, 42.12% ระบุว่า ประเทศกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน, 39.56% ระบุว่า การบริการด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน (ค่ารักษาพยาบาล การบริการด้านสาธารณสุข) และ 35.90 ระบุว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

"นิด้าโพล" ทำการสอบถามความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 273 ราย เกี่ยวกับความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลใหม่ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 15 สิงหาคม 2562 โดย 7.33% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น, 23.44% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง, 20.14% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล, 7.69% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, 17.95% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา, 2.20% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน และ 21.25% เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ