ผู้ประกอบการ เชื่อภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังเดินหน้าต่อได้แม้ชะลอตัว วอนธปท.ผ่อนปรน-ยกเลิก LTV ยาแรงซ้ำเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2019 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวในงานสัมมนา "อสังหาฯ พลิกเกมรุก จับโอกาสทอง" ว่า การออกมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV)ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปรียบเสมือนกับการให้ยาแรงเกินไป จึงอยากให้ ธปท.ผ่อนปรนมาตรการลงบ้าง หรือถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ยกเลิกไปเลย

"เข้าใจว่าแบงก์ชาติเห็นตัวเลข NPA, NPL เยอะขึ้น เขาจึงเกรงว่าอาการนี้ พอไปเจอปัญหาเศรษฐโลกเข้าไปอีก จะเอาไม่อยู่ จึงออกมาตรการที่เป็นคีโมออกมา แต่พอดีคีโมเสร็จ มันเลยตายทั้งตัว ไม่ได้ตายเฉพาะตรงที่ป่วย ในภูมิภาคตายไปด้วย เจอ LTV เข้าไป ในกลุ่มข้าราชการย้ายจังหวัด การซื้อบ้านหลังที่สองก็เลยต้องดาวน์เยอะขึ้น ทำให้เขาไม่ซื้อ มีการร้องเรียนเข้ามาว่าทำไมไม่ออกมาตรการเก็งกำไรเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ผมก็เข้าใจว่าไม่มียาเฉพาะที่ ผ่อนๆ ลงบ้างก็ดี ที่ผ่อนล่าสุดเรื่องการกู้ร่วมนั้น ตอนนี้คงต้องรอดูว่าจะมีอะไรผ่อนผันเพิ่มเติมหรือไม่ แต่จริงๆ ก็อยากให้ยกเลิกไปเลย" นายพรนริศกล่าว

อย่างไรก็ดี จากผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากมาตรการ LTV และปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในภายนอกประเทศนั้น เชื่อว่า ธุรกิจอสังหาฯ ของไทยยังสามารถปรับตัวและเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ถึงขั้นได้รับผลรุนแรงดังเช่นวิกฤติการณ์ในปี 40

"ปัญหาของอสังหาฯ ในขณะนี้ถือว่าแค่เจ็บขา เมื่อเทียบกับปี 40 ที่เรียกว่าตายไปเลย สมัยนั้นหนักกว่านี้เยอะ" นายพรนริศ ระบุ

นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มเห็นสัญญาณที่ชะลอตัวของกำลังซื้อจากกลุ่มลูกค้าในตลาดจีนตั้งแต่ไตรมาส 4/61 ต่อเนื่องมาจนไตรมาส 1/62 ทำให้ต้องหันมาพึ่งกำลังซื้อจากตลาดในประเทศมากขึ้น และในไตรมาส 2 นี้ ลูกค้าจากตลาดจีนและฮ่องกงหายไปกว่าครึ่ง ประกอบกับมาตรการ LTV ของธปท. ที่มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ ที่โฟกัสตลาดลูกค้าในเอเชียคงจะต้องปรับตัว และไม่สามารถทำการตลาดในรูปแบบเดิมๆ ได้

"ในไตรมาส 2 เริ่มเห็นสัญญาณชัดขึ้นว่าตลาดต่างประเทศถดถอย ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เกิดการชะลอตัวในภาคอสังหาฯ แต่เชื่อว่าไม่ใช่วิกฤติแบบปี 40 ไม่ได้เข้าช่วงฟองสบู่ แค่เป็นการชะลอตัว ซึ่งเมื่อหลายคนเห็นเช่นนี้ ก็ได้เริ่มปรับตัว แม้ 7 เดือนนี้จะไม่ค่อยดี แต่ไม่สาหัสขนาดไปต่อไม่ได้ ยังประคองกันได้อยู่ ซึ่งหากปรับกลยุทธ์ ก็ยังเดินหน้ากันต่อได้" นายชนินทร์กล่าว

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล เพราะเงินบาทที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของไทยในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ รวมทั้งอาจทำให้ลูกค้าต่างชาติหันไปพิจารณาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในตลาดประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

"เงินบาทที่แข็งค่า ประกอบกับเงินหยวนที่อ่อนค่านั้น ทำให้ลูกค้าชาวจีน หรือลูกค้าต่างชาติเกิดความลังเล เพราะที่อยู่อาศัยของเราจะมีราคาแพงขึ้น ทำให้ลูกค้าต่างชาติหันไปมองตลาดในประเทศเพื่อนบ้านแทน ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาช่วยดูแลค่าเงิน ไม่เช่นนั้น เราจะเสียโอกาสจะภาวะที่เงินบาทแข็งค่าได้" นายชนินทร์ระบุ

ด้านนายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังให้มุมมอง positive กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และในไตรมาส 2 สถานการณ์อาจจะดูไม่ค่อยดีนัก โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือโครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวจะมีอัตราการซื้อที่ชะลอตัวลง

"เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และกำลังซื้อในบ้านเราเอง ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ไม่เห็นผลกระทบเท่าไร แต่ไตรมาส 2 เห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น" นายพนมกล่าว

ทั้งนี้ จากการที่ ธปท. ออกมาตรการ LTV ได้ส่งผลต่อลูกค้าในแต่ละกลุ่มให้ได้รับผลกระทบที่ต่างกันไป เช่น ในกลุ่มที่เก็งกำไร พบว่ากลุ่มชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาฯ ในไทยเพื่อการเก็งกำไรหายไปมาก ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มนักลงทุนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า ยังคงพอไปได้ เนื่องจากได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการนำเงินฝากธนาคาร ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริงนั้น เติบโตไม่ทันกับ supply ที่ขยายตัวสูง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีหลังมานี้ได้กำลังซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีน และฮ่องกง มาช่วยทดแทนกำลังซื้อของคนไทยได้มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ