"กรณ์"ระบุเหตุ 6 ประการที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐบาลติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2008 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ระบุการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลถือว่าติดลบ เพราะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ แม้รัฐบาลจะรับรู้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาจากเศรษฐกิจโลกอย่างน้อย 2 ด้าน คือ ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐ และปัญหาราคาน้ำมันแพง 
"ประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คือ เรื่องความเชื่อมั่น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นโยบายรัฐบาล จุดเริ่มต้นก็ติดลบแล้ว" นายกรณ์ กล่าวอภิปรายถึงนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
โดยสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นในนโยบายและการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลติดลบ ได้แก่ 1.วิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่นำเสนอผ่านนโยบายยังขาดการชี้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นว่าไทยต้องการจะเป็นผู้นำในด้านใดของโลก
2.เอกภาพในการบริหารจัดการของพรรคร่วมรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล ซึ่งในช่วงหาเสียงได้มีการโฆษณาว่าจะมีนโยบายเพิ่มรายได้ 4 เท่าและลดรายจ่าย 4 เท่า แต่เท่าที่ดูจากการแถลงนโยบายรัฐบาลวันนี้กลับไม่ปรากฎว่ามีนโยบายใดจะทำให้คำมั่นสัญญาที่มีไว้ต่อประชาชนบรรลุวัตถุประสงค์
3.ภาวะความเป็นผู้นำของผู้ที่รับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจและความพร้อมที่จะตัดสินใจในนโยบายสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการกันสำรอง 30% และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งนักธุรกิจต่างต้องการเห็นความกล้าหาญในการตัดสินใจของ รมว.คลัง เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนและนำมาสู่การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ
"ทุกวันนี้มีผู้ประกอบการพร้อมจะลงทุนซื้อเครื่องจักร ลงทุนเพิ่ม แต่ขาดความชัดเจนเรื่องมาตรการอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ชะลอการตัดสินใจออกไป ชะลอการลงทุน ซึ่งแน่นอนมีผลต่อการชะลอการฟื้นคืนชีพต่อเศรษฐกิจไทยของเรา" นายกรณ์ กล่าว
4.ความชัดเจนในการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เนื่องจากในงบปี 51 รัฐบาลสามารถตั้งวงเงินกู้เพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 6-8 แสนล้านบาทเท่านั้น และเมื่อรวมกับที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรในประเทศระยะยาวอีก 5 แสนล้านบาท ก็ยังเชื่อว่าไม่พอกับหลายโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่รัฐบาลจะผลักดันซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 2 ล้านล้านบาท
"ทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้ง 3 คำถามว่า รัฐบาลตั้งใจทำจริงหรือไม่ในแต่ละโครงการที่เสนอมา รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการ หากเงินไม่พอว่าโครงการไหนทำก่อน โครงการไหนชะลอ และหากดื้อดันทำทุกโครงการแล้วเงินหมดจะทำอย่างไร ใครรับผิดชอบ" นายกรณ์ กล่าว
5.การส่งเสริมรายได้ของรัฐบาลที่ยังไม่ปรากฎให้เห็นในนโยบายรัฐบาล ดังนั้นกระทรวงการคลังจะต้องชี้แจงที่มาของเงินที่จะนำมาใช้สนับสนุนนโยบายและโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้นำเสนอ และ 6.ขาดนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและพัฒนาการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่รัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ