พาณิชย์ เผยส่งออก 6 เดือนแรกใช้สิทธิ FTA-GSP รวม 36,358.24 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 23, 2019 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 6 เดือนของปี 62 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 36,358.24 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 78% หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.35%

ทั้งนี้ แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 13 ฉบับ ยกเว้น FTA อาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ 11 มิ.ย.62 มีมูลค่ารวม 33,755.81 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 79.02% ของการใช้สิทธิรวมลดลง 2.65% และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่า 2,602.43 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 66.88% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.34%

สำหรับตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน มูลค่า 12,386.53 ล้านเหรียญสหรัฐ 2) จีน มูลค่า 9,222.44 ล้านเหรียญสหรัฐ 3) ออสเตรเลีย มูลค่า 4,078.06 ล้านเหรียญสหรัฐ 4) ญี่ปุ่น มูลค่า 3,822.76 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5) อินเดีย มูลค่า 2,299.26 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 24.51% รองลงมาคือนิวซีแลนด์ มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.76%

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี 100.36% 2) อาเซียน-จีน 98.67% 3) ไทย-ญี่ปุ่น 91.19% 4) ไทย-เปรู 87.96% และ 5) อาเซียน-เกาหลี 84.19%

ส่วนรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถบรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุด

ในส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 2,382.93 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 75.16% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,170.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.59% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่นๆ โครงแซสซีส์หรือส่วนประกอบ และแว่นตาอื่นๆ

นายอดุลย์ กล่าวว่า หากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจการค้าโลก ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ของคู่ค้าชะลอตัวตาม ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฮ่องกง สหรัฐฯ เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลงไปเช่นกัน

ตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ 1) ตลาดอาเซียน หดตัว 3.99% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัสอื่นๆ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่นๆ เป็นต้น 2) ตลาดออสเตรเลีย หดตัว 13.89% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบมีการส่งออกลดลงอาจเนื่องมาจากออสเตรเลียมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนและแคนาดาเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญสวนทางกับการนำเข้าจากตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา คาดว่าเป็นผลจากการเปิดตลาดสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจีน-ออสเตรเลีย (ChAFTA) ที่จีนได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้ากลุ่มนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และภายใต้ความตกลง CPTPP ที่แคนาดาได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงฯ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 3) ตลาดชิลี หดตัว 27.44% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารทะเลแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ไทย-ชิลี ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง (100%) ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และ 4) ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 7.66% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ทูน่าแปรรูป กุ้งแช่แข็ง พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น แม้ว่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 จะลดลงในบางตลาดข้างต้น แต่ตลาดส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีน อินเดีย เกาหลี นิวซีแลนด์ และเปรู เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพในการส่งออกอยู่ ถือเป็นความท้าทายในการที่จะบรรลุเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562 ที่กรมฯ เคยตั้งไว้ที่ 9% (คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

แม้ว่าปัจจัยเศรษฐกิจการค้าโลกจะยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง กรมฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำผู้ประกอบการให้ปรับกลยุทธ์ในการส่งออกโดยหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างประเทศอินเดียและกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา เป็นต้น เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่มีการส่งออกที่ชะลอตัว

โดยจากสถิติการส่งออกและการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในตลาดอินเดียยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง (การส่งออกขยายตัว 3.42% และการใช้สิทธิฯ ขยายตัว 2.76%) กรมฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของตลาดที่การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ยังสามารถขยายตัวได้ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินหน้าจัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ในวันที่ 10 ก.ย.62 หัวข้อเรื่อง "หลีกภัยสงครามการค้า...มุ่งหน้าอินเดียและเอเชียใต้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ