ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 การส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยไปยังตลาดโลกยังบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะที่ค่อนข้างซบเซาในตลาด หลังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอันหลากหลายทั้งสงครามการค้าโลกอันยืดเยื้อ การแข็งค่าของค่าเงินบาท ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องในประเทศนำเข้ารถยนต์หลักจากไทย เช่น ออสเตรเลีย ที่มีส่วนแบ่งในการส่งออกรถยนต์ของไทยสูงถึงประมาณ 30% ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงครึ่งแรกหดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเกียวกันในปีก่อน ด้วยปริมาณรถยนต์ส่งออก 559,861 คัน
ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนับจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่ดำเนินยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2562 และคาดว่าจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า แม้จะมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีไปยังตลาดตะวันออกกลาง เอเชีย และสหภาพยุโรป มาช่วยทดแทนได้บ้างก็ตาม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกรถยนต์ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 น่าจะมีจำนวนประมาณ 550,000 คัน หดตัวต่อเนื่องที่ 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ตลอดทั้งปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 1,110,000 คัน หดตัวกว่า 2.7% จากปีที่แล้ว ทั้งนี้ แรงฉุดสำคัญมาจากการส่งออกรถยนต์นั่งและรถอเนกประสงค์ PPV ที่หดตัวลงค่อนข้างมากในหลายๆตลาด แม้การส่งออกรถปิกอัพจะยังขยายตัวได้ก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกรถปิกอัพในระยะยาว แม้การส่งออกรวมจะมีโอกาสขยายตัวขึ้นจากตลาดอาเซียน และโอเชียเนียดังกล่าว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในตลาดที่ไทยสามารถส่งออกได้ดีในปัจจุบัน หากในอนาคตไทยยังคงไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆใน ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลางเลยดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โอกาสในการส่งออกของไทยไปตลาดเหล่านี้ลดลงได้ในอนาคต เมื่อค่ายรถเริ่มไปลงทุนผลิตรถปิกอัพมากขึ้นในประเทศที่อยู่ใกล้กับตลาดเหล่านี้มากกว่า และหากได้สิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าที่ต่างกำลังเจรจากันอยู่ในขณะนี้ดังกล่าวข้างต้น ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าถูกกว่าไทย
โดยในระยะยาวข้างหน้า หากเกิดกรณีที่ค่ายรถปิกอัพลดการส่งออกจากไทยแล้วไปผลิตในประเทศที่อยู่ใกล้ตลาดส่งออก ดังเช่นที่เคยเกิดในตลาดแอฟริกาและอเมริกาใต้ขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า การส่งออกรถปิกอัพจากไทยไปยังภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง รวมกันทั้ง 3 ตลาด จะมีมูลค่าลดต่ำลงกว่าที่ไทยควรจะส่งออกได้โดยศักยภาพถึง 760 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลงไป 45% จากมูลค่าการส่งออกรถปิกอัพที่ควรจะเป็นตามศักยภาพในปี 2567 ดังนั้นการที่ไทยจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศที่กำลังเจรจาอยู่โดยเร็ว เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ก็น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบดังกล่าว รวมถึงเป็นผลดีต่อการผลิตและส่งออกรถปิกอัพของไทยโดยรวมต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งการที่ไทยสามารถรักษาตลาดส่งออกไว้ได้ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่ม Economies of Scale ทำให้ต้นทุนรถปิกอัพผลิตจากไทยแข่งขันได้ดีในตลาดต่างๆมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการควบคุมการปล่อยมลพิษที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในหลายๆตลาดส่งออกของรถปิกอัพไทยที่ภาครัฐและเอกชนควรต้องพิจารณาถึง ซึ่งแม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้กระทบต่อรถปิกอัพโดยตรง แต่เทรนด์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากไทยสามารถผลักดันให้รถปิกอัพที่ผลิตในประเทศพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เช่นเดียวกันกับรถยนต์นั่งได้ ก็น่าจะเป็นอีกส่วนช่วยหนึ่งที่ให้ไทยยังคงรักษาความเป็นประเทศฐานการผลิตรถปิกอัพที่สำคัญระดับโลกต่อไปได้อีกนาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ของไทยในอนาคตข้างหน้า การส่งออกรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นปัจจัยที่กลับมาผลักดันให้การส่งออกโดยรวมยังคงขยายตัวต่อไปได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยสูง หลังค่ายรถได้ทยอยเข้ามาลงทุนผลิตในไทยเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นฐานในการส่งออก แต่ในส่วนของการส่งออกรถปิกอัพของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ล่าสุดจะมีการลงทุนเพิ่มเข้ามาจาก 2 ค่ายรถ แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณที่มากพอจะทำให้การส่งออกยังคงรักษาสถานะขยายตัวดังเช่นปัจจุบันต่อเนื่องไปตลอดในระยะยาวได้ เนื่องจากตลาดนำเข้าทั้งหลายยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากฐานการผลิตในประเทศอื่นที่อยู่ใกล้กับตลาดส่งออกของไทยหลายตลาด และการที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าหลักอยู่หลายกลุ่ม ทำให้หากไม่มีการเร่งปรับตัวรับมือ ก็อาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในบางตลาดได้ เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ซึ่งมีประเด็นให้ต้องติดตามต่อไปอยู่ในระยะข้างหน้า