นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงการเปิดศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน (GSB Research) เพื่อเป็นศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) และการวิจัยต่างๆ ด้วยเครื่องมือทางสถิติขั้นสูง และ Model ต่างๆ โดยนักวิจัยจำนวน 28 คน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญ/คลังสมอง (Think Tank) ที่ให้บริการข้อมูลใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านเศรษฐกิจฐานราก ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยเศรษฐกิจมหภาคถือเป็นภาพหลัก ที่สำคัญที่แสดงถึงการเจริญเติบโตและการพัฒนาของประเทศ
ดังนั้น ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจการเงินในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการประมาณการการขยายตัว ทางเศรษฐกิจรายไตรมาส เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงนำเสนอผลงานวิจัยต่างๆ ต่อสาธารณชน
สำหรับด้านเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economy) เป็นส่วนเศรษฐกิจที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย และเป็นภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินจึงมุ่งที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ ของประเทศผ่านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index) รวมถึงการติดตามแนวนโยบาย และภาวะ ของเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนมีการวิจัยเชิงลึกและบทวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก
ขณะที่ ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินมุ่งมั่นวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมในแต่ละ Sector โดยเฉพาะ Sector ที่มีความสำคัญของประเทศ อาทิการผลิต การบริการ การค้า อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและคลังสินค้า รวมถึงบริการทางการเงินที่เป็น Financial Innovation ต่างๆ พร้อมทั้งวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อจัดกลุ่ม/ค้นหาธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่เป็น Sunrise-Sunset ดาวเด่น ดาวร่วงในแต่ละภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งยังยังติดตามสถานการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ซึ่งภาครัฐถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ของประเทศผ่านการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) รายไตรมาส เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลธุรกิจ/อุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการ หน่วยงานและสาธารณชน อีกทั้งยังได้ติดตาม ความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้ทันกับโลกในยุค Digital ด้วย
นายชาติชาย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินแห่งนี้มีความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเศรษฐกิจฐานรากนั้นถือเป็นงานบุกเบิกชิ้นสำคัญที่ธนาคารได้ริเริ่มมาตั้งแต่แรกอย่างเป็นรูปธรรม มีดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ซึ่งใช้บ่งชี้ถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงจัดทำ Poll เพื่อศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มคนฐานราก ทั้งเรื่องวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การหารายได้ การออม การใช้จ่าย การก่อหนี้ เป็นต้น ตลอดจนมีรายงานวิจัยเชิงลึกทางด้านฐานรากนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
"ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีนักวิจัยที่มีคุณภาพ มีระบบการวิเคราะห์วิจัยตามแบบมาตรฐานงานวิจัยสากล มีเครื่องมือตลอดจนเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล คำนวณค่าสถิติ และการประมาณการที่เที่ยงตรงแม่นยำ ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์ประเด็นร้อน (Hot Issue) ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ มีการจัดทำรายงานที่นำเสนอแบบ Infographic ที่สวยงาม ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยปัจจุบันมีรายงานวิจัยที่เกิดจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสินกว่า 100 เรื่องต่อปี และมีความพร้อมในการนำเสนอผลการวิจัยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความมุ่งมั่นเพื่อผลสำเร็จที่ว่า "สร้างสรรรค์งานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจไทยยั่งยืน" นายชาติชาย กล่าว